
กกร.ยืนเป้าจีดีพีปี 2566 โต 3.0-3.5% ยังมั่นใจรายได้ท่องเที่ยว 30 ล้านคน การบริโภคในประเทศฟื้น ห่วงเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังชะลอ ฉุดส่งออกติดลบ 1% รัฐบาลใหม่ขึ้นค่าแรง 450 บาท ฉุดเงินเฟ้อพุ่ง 0.82%
วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย มีนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- ราคายางใกล้แตะ 50 บาท/กก. กระทบโรงงานน้ำยางข้นต้นทุนพุ่ง-จ่อปิดตัว
- กรมอุตุฯเตือน “พายุดีเปรสชั่น” เข้าไทย รับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน
ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงขยายตัว 3.0-3.5% โดยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เดือนแรกเข้ามาสูงกว่า 8 ล้านคน ทั้งปีมีศักยภาพที่จะมากถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน
นอกจากนี้ รายได้ในภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมยังขยายตัว ทำให้ในภาพรวมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
ส่งออกปี 2566 ติดลบ 1%
อย่างไรก็ตาม กกร.ประเมินว่าการส่งออกปี 2566 มีโอกาสจะติดลบ 1-0% จากภาคผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก และในช่วงครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม โดยเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 แผ่วลง เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังการเปิดประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ โดยการฟื้นตัวในภาคบริการมีสัญญาณแผ่วลง
เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปเผชิญแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จนกว่าประเทศใหญ่อย่างเช่นประเทศจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา
“กกร.มีความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งติดลบติดต่อกัน 7 เดือน ทำให้คำสั่งซื้อลดลง แต่ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องมีการรักษาการผลิต เพื่อพยุงการจ้างแรงงานให้ไม่ได้รับผลกระทบ จากการสำรวจ ส.อ.ท.พบว่า หากการส่งออกยังไม่มีการฟื้นตัว อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมี 19 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ที่ต้องพยุงการผลิตทั้งที่ demand ลด”
ค่าแรง 450 บาทดันเงินเฟ้อโต 0.82%
ขณะที่เงินเฟ้อปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 2.7-3.2% โดยปัจจัยท้าทาย ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2% และมีแนวโน้มว่าจะยังปรับขึ้นต่อไปด้วยเหตุว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง ทั้งอาจได้รับแรงกดดันจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรและราคาสินค้าในระยะข้างหน้า การส่งผ่านราคาของผู้ประกอบการจากภาระต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อหมวดอาหารที่กระทบค่าครองชีพประชาชน
“รัฐบาลใหม่มีการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต ที่ประชุม กกร.มีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82% ซึ่งผลกระทบต่อภาพรวมกรอบประมาณการหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับขึ้นในช่วงเวลาใด ถ้าปรับปีนี้ก็จะกระทบกรอบเงินเฟ้อปีนี้ ถ้าปรับปีต่อไปก็กระทบกรอบปีต่อไป และ ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนจะกระทบอย่างมาก”
เลิกอุ้มดีเซล-ปรับดอกเบี้ย ดันเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นที่อาจจะส่งผลต่อเงินเฟ้อ หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท สิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค. 66 ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ดังนั้น มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง เพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง”
รักษาแรงส่ง เศรษฐกิจไทย
นายผยงย้ำว่า กกร.เห็นพ้องกันว่าควรมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วตามไทม์ไลน์ และใช้กลไกที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันงบประมาณ เพื่อรักษาแรงส่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง
“ทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว เห็นได้จากความสำเร็จของงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างมูลค่าการสั่งซื้อกว่า 120,000 ล้านบาท จากผู้เข้าร่วมงาน 3,034 บริษัท ผู้เข้าชมงาน 131,039 คน เพิ่มขึ้น 58% ช่วยให้การส่งออกอาหารของไทยในปีนี้มีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน”
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลัก ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ สิ่งสำคัญต้องมีการดูแลนักท่องเที่ยวให้มีความสะดวก ปลอดภัย จะเป็นแรงจูงใจดึงดูดให้ต่างชาติเลือกเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และต้องแก้ปัญหาคอขวดเรื่องการเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้กับสายการบินของไทยที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหาสายการบินให้เพียงพอจะทำให้การท่องเที่ยวบรรลุเป้าหมาย
สำหรับภาคการลงทุน ประเทศไทยมีโอกาสในการดึงดูดนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนและทำงานเป็น Hub มากขึ้น จากอานิสงส์ของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก
ดังนั้น ภาครัฐควรมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) เช่น การปรับปรุงปฏิรูปการขอวีซ่าให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น
เอลนีโญปี 2566 เสียหายเศรษฐกิจ 36,000 ล้าน
นายผยงกล่าวอีกว่า กกร.เสนอว่าต้องแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำตามพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะตามเกาะต่าง ๆ และประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ประชุม กกร.มองว่าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระดับสูงในภาวะที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหา
โดยคาดว่าเอลนีโญในปีนี้อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท ทาง กกร.ได้มีการทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เสนอให้เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว
นอกจากนี้ ที่ประชุมมองว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว