
คอลัมน์ : มองข้ามชอต ผู้เขียน : ดร.ฐิติมา ชูเชิด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
ความยั่งยืนในการทำธุรกิจนับเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจทุกวันนี้มากขึ้น ทั่วโลกยึดหลักแนวคิด ESG ที่ย่อมาจาก environment, social และ governance นั่นคือในการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึง ความรับผิดชอบหลัก 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล ผ่านการดำเนินงานรักษ์สิ่งแวดล้อม สื่อสารต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใสตรวจสอบได้
การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG นี้จะช่วยสร้างมูลค่าการเติบโตและความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ 1 ธ.ค.นี้ เครดิตบูโรห่วงกู้ซื้อ “รถ-บ้าน” ค้างจ่ายพุ่ง
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
ทั่วโลกตกลงกำหนดเป้าหมาย net zero carbon ภายในปี 2050 จึงเห็นการเร่งปรับตัวของประเทศและธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและธุรกิจที่ยั่งยืนให้ได้ ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงมาก
โดย McKinsey ได้ทำการศึกษาไว้ว่า ธุรกิจจำเป็นต้องใช้เงินทุนรวมมูลค่าราว 250 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 53% ของขนาดเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงแรกจะเห็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการเร่งปรับตัวของประเทศต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่าสูงสุดถึง 8% ของขนาดเศรษฐกิจโลกในปี 2031 ก่อนจะทยอยลดลงเหลือราว 6% ในปี 2050
การออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ESG bond เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ธุรกิจนิยมใช้เพื่อระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ในช่วงที่ผ่านมาการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2015 จาก 0.2% ของมูลค่าตราสารหนี้ทั้งหมด เป็น 5% ในปี 2022 และมีตราสารหนี้ยั่งยืนหลากหลายประเภทมากขึ้น กระแสความต้องการลงทุนใน ESG bond ทำให้เกิด Green Premium (หรือ “Greenium”) สะท้อนราคาที่นักลงทุนยอมจ่ายแพง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในการลงทุนถือ ESG bond เทียบกับการลงทุนตราสารหนี้ทั่วไป
Greenium คือ ผลต่างระหว่างผลตอบแทนของตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (ESG bond) กับตราสารหนี้ทั่วไป (non-ESG bond) คำนวณได้จากการนำอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจ่ายของ ESG bond มาหักด้วยอัตราผลตอบแทนของ non-ESG bond ถ้าได้ค่าลบแสดงว่า ตราสารนั้นมี Greenium เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนได้ว่า ธุรกิจที่ออก ESG bond ขอระดมทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว สามารถเสนอจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนต่ำกว่าทางเลือกในการระดมทุนด้วย non-ESG bond
ผลศึกษา Greenium จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ 12 ชิ้นในช่วงปี 2017-2022 ที่ทำการศึกษาว่ามี Greenium เกิดขึ้นหรือไม่ ในการออกตราสารหนี้ของธุรกิจทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง โดยใช้วิธีการคำนวณที่หลากหลาย โดยงานศึกษาเกือบทั้งหมดพบว่า Greenium ในตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศมีจริงและค่านี้อยู่ในช่วง -1.8 ถึง -18 BPS
ล่าสุดรายงาน Amandi Asset Management ร่วมกับ IFC (Jul 23) พบว่า Greenium ของตราสารหนี้ยั่งยืนในตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ขายในช่วงปี 2019-กลางปี 2023 จ่ายอัตราผลตอบแทน ESG bond ต่ำกว่าหุ้นกู้ทั่วไปสูงถึง -40 BPS โดยเฉพาะตราสารหนี้ของธุรกิจญี่ปุ่น พร้อมกับประเมินว่าค่า Greenium ที่สูงเช่นนี้จะช่วยให้ธุรกิจทั่วโลกลดต้นทุนการระดมทุนในระยะยาวไปจนถึงปี 2050 ได้มากถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับ Greenium ในตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ย -4.2 BPS ในปี 2021 เป็น -6.4 BPS ในปี 2022 ตลาดตราสารหนี้ยั่งยืนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จึงยังน่าดึงดูดนักลงทุนอยู่มาก โดยพบว่า สัดส่วนการออก ESG bond ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (ไม่รวมจีน) ทำสถิติสูงสุด 33% ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 30% ในปี 2021
สำหรับแนวโน้มข้างหน้า รายงานนี้คาดการณ์ว่า การออก ESG bond ในตลาดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (ไม่รวมจีน) จะเติบโตสะสมในช่วงปี 2023-2024 สูงถึง 27% โดยในปี 2023 จะเติบโตได้ 14% หลังภาวะเงินเฟ้อโลกเริ่มผ่อนคลายลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเติบโตชะลอลงของสินเชื่อ ก่อนจะชะลอตัวลงบ้างในปี 2024 เหลือ 11% (หากรวมจีน ภาพรวมแนวโน้มการเติบโตจะลดลง -1% ในปี 2023 และเพิ่มเป็น 11% ในปี 2024) จึงยังเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนทั่วโลกอยู่มากจากขนาดการเติบโตและผลิตภัณฑ์หลากหลายขึ้น
หากมองกลับมาดู Greenium ในตลาดตราสารหนี้ไทย ThaiBMA (2023) ได้ศึกษา ESG bond ที่เสนอขายในช่วงปี 2018-เม.ย. 2023 ไว้ พบว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยมี Greenium ค่าเฉลี่ยราว -6 ถึง -7 BPS นั่นคือ ธุรกิจรายเดียวกันที่ขอระดมทุนในรูป ESG bond จ่ายดอกเบี้ย (coupon) ต่ำกว่าการระดมทุนในรูป non-ESG bond เล็กน้อย
แม้ Green Premium ของไทยจากการศึกษายังค่อนข้างต่ำเทียบกับต่างประเทศ อาจดูไม่ค่อยมีนัยสำคัญในการช่วยลดต้นทุนของธุรกิจผู้ออก ESG bond มากนัก แต่การออก ESG bond จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจนั้น ๆ เองในการขยายฐานนักลงทุนและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ควบคู่ไปกับความต้องการลงทุนอย่างยั่งยืนสู่ net zero carbon economy แม้ความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละอุตสาหกรรมจะไม่เท่ากัน
การเร่งปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจ แต่จัดว่าเป็นทางรอดของธุรกิจที่ต้องการสร้างมูลค่าและการเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางกระแสโลกที่กำลังแข่งขันและเร่งปรับตัวอยู่เช่นกัน