แก้หมูเถื่อน ไม่หมู

หมูเถื่อน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

เกือบ 2 ปีแล้ว ที่ปัญหาหมูเถื่อนทะลักเข้ามาสร้างความเสียหายให้ตลาดหมูบ้านเรา มีตัวเลขประมาณการคร่าว ๆ ว่า เฉพาะปี 2564 ปีเดียวก็ทะลักมา 2 พันกว่าตู้แล้ว

สะท้อนถึงราคาสุกรมีชีวิต หรือที่เรียกราคาหมูหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ จากที่เคยอยู่ที่ กก.ละ 96-100 บาท เมื่อปี 2564 มาถึงตอนนี้ เดือนธันวาคม 2566 ราคาสุกรหน้าฟาร์มดิ่งไปเหลือ 64-74 บาท หรือหายไป กก.ละ 20-40 บาท

แล้วเกษตรกรจะอยู่ได้อย่างไร

เมื่อต้นทุนการผลิต ตามข้อมูลของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า ต้นทุนการเลี้ยงตอนนี้เฉลี่ยที่ กก.ละ 76-78 บาท ขายได้แค่ 64-74 บาท ขาดทุนแน่นอน กก.ละ 5-15 บาท (ซึ่งสมาคมแง้มว่าสถานการณ์ราคาตอนนี้อาจจะเรียกว่าดีขึ้นมาแล้ว จากก่อนหน้านี้เคยแตะ กก.ละ 60 บาทเลยทีเดียว) แต่ถ้าราคาที่จะทำให้เกษตรกรอยู่รอด ต้องบวกกำไรควรจะอยู่ที่ กก.ละ 80 บาท

ขณะที่ฝั่งผู้บริโภค แน่นอนว่าสินค้าหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาก่อนหน้านี้ดัมพ์ราคาขายปลีกที่หน้าเขียงลงต่ำมาก อาจจะเหลือเพียง กก.ละ 100-120 บาท ร้านหมูกระทะ ร้านอาหารชาบู ร้านบุฟเฟต์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ส่งผลดีในแง่ทางเลือกที่เพิ่มขึ้น และราคาที่ถูกลงก็จริง

แต่ในแง่สุขภาพสำหรับหมูเถื่อนที่บรรจุกล่องแช่แข็งมาเป็นเดือน ๆ ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีคุณค่าสารอาหาร หรือโภชนาการมากเพียงพอ และที่สำคัญหมูที่นำเข้าจากบางประเทศเป็นประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ก็เท่ากับคนไทยต้องบริโภคหมูที่ไม่รู้เลยว่ามีสารอะไรผสมอยู่ในเนื้อบ้าง เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้

ADVERTISMENT

การดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจึงเป็นนโยบายสำคัญที่ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ลงมากำกับดูแลด้วยตัวเอง ผนวกกับความเข้มข้นในส่วนของนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ออกมาประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน และตั้งชุด ฉก. “พญานาคราช” ขึ้นมาไล่ตรวจสอบปูพรมคลังสินค้าทั่วประเทศให้ขึ้นทะเบียนและรายงานก่อนที่จะมีการปูพรมตรวจสอบ หลัง วันที่ 15 ธ.ค. 2566 นี้

การทำงานครั้งนี้เป็นความหวังของเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ขอให้สาวถึงต้นตอ “ปราบหมูเถื่อนให้หมดไปจากประเทศไทย” และเป็นการพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม นอกจากการปราบปรามการลักลอบนำเข้าแล้ว รัฐบาลต้องสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมหมูของไทยให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากเกษตรกรบอบช้ำจากปัญหาโรคระบาด ASF มากว่า 2 ปี

มาต่อด้วยหมูเถื่อน และยังต้องเผชิญปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง จากวัตถุดิบธัญพืชทั่วโลกที่ปรับราคาขึ้นในช่วงที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อเนื่องด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้หลายสินค้าปรับฐานราคาขึ้นไป

เสียงเรียกร้องอีกด้านหนึ่งของเกษตรกร ขอให้รัฐวางมาตรการดูแลช่วยเหลือด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ราคาถูก ให้เกษตรกรรายย่อยสามารถลงทุนฟื้นฟูการเลี้ยงรอบใหม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ในอนาคตผู้เลี้ยงรายย่อยตายหมด ไทยอาจจะเหลือเพียงผู้เลี้ยงรายใหญ่ จากเดิมที่มีรายใหญ่-เล็กถ่วงดุลกัน

เมื่อโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมนี้จะไม่เหลือพื้นที่ในการแข่งขันให้กับรายย่อยอีกต่อไป อาจจะนำไปสู่ปัญหาการใช้อำนาจเหนือตลาด ที่เป็นสิ่งเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาแล้ว