
บทบรรณาธิการ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว ปรากฏในส่วนของหนี้นอกระบบมีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 140,973 คน เป็นเจ้าหนี้ 110,455 ราย ลูกหนี้ 21,761 ราย มีมูลหนี้ 9,835 ล้านบาท (ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567) ในจำนวนนี้สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 13,089 ราย มีมูลหนี้ก่อนการไกลเกลี่ย 1,979 ล้านบาท มูลหนี้หลังการไกล่เกลี่ย 1,304 ล้านบาท หรือลดลง 675 ล้านบาท แม้จำนวนมูลหนี้ที่ลดลงจะยังไม่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้จักต้องดำเนินการต่อไปในหนทางข้างหน้าที่ยังอีกยาวไกล
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ มีความคืบหน้าในลูกหนี้ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 สามารถปิดหนี้เสียได้มากกว่า 630,000 บัญชี มูลหนี้ 4,000 ล้านบาท มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs มากกว่า 10,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้มากกว่า 5,000 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ สหกรณ์ออมทรัพย์มากกว่า 80 แห่ง ได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ (อัตราที่เหมาะสม 4.75%) ซึ่งจะช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้มากกว่า 3 ล้านราย มีลูกหนี้บัตรเครดิตเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้มากกว่า 150,000 บัญชี กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน แบ่งเป็นเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้มากกว่า 1,800,000 ราย ลูกหนี้ กยศ.เข้ามาติดต่อเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้มากกว่า 600,000 ราย และกลุ่มที่ 4 ลูกหนี้ที่มีหนี้เสียคงค้างมาเป็นระยะเวลานาน ได้เตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ เข้ามาแก้ปัญหาในไตรมาสที่ 1/2567
โดยนายกรัฐมนตรีได้หยิบยกดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI ของการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน จะวัดจาก 1) หนี้สินที่ได้รับการแก้ไขจะต้องครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ 2) เจ้าหนี้-ลูกหนี้ที่มีการลงทะเบียนครบถ้วน จะต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 100% และ 3) ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้วทุกรายจะต้องได้รับการพิจารณาสินเชื่อ หรือการปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงิน และให้ได้รับความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูศักยภาพในการหารายได้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้ออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหนี้ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางปิดจบหนี้ และการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรม
ทว่า แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้ประสบผลสำเร็จ จนถึงขั้นกล่าวว่าจะให้จบในรัฐบาลนี้ แต่ต้องไม่ลืมกระบวนการต่อเนื่องที่สำคัญกว่า นั้นก็คือจะทำอย่างไรไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบอีก การสร้างอาชีพและหารายได้เพิ่มให้กับผู้ที่ผ่านกระบวนการท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมใหม่ ๆ อาชีพใหม่ ๆ ในการหารายได้ที่ไม่เหมือนเดิม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งให้ความรู้ ความช่วยเหลือ พัฒนาทักษะลูกหนี้ นอกเหนือไปจากการให้สินเชื่อ หากบริหารจัดการไม่ดีก็จะกลับมาเป็นหนี้อีก