ครม.เคาะแผนปรับปรุงหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 5.6 แสนล้าน

ชัย วัชรงค์
ชัย วัชรงค์

คณะรัฐมนตรีเคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะ แผนก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 5.6 แสนล้าน แต่ยังอยู่ในกรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ที่เสนอโดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ

โดย ครม.อนุมัติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการเสนอมาดังนี้

1.อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 560,276.10 ล้านบาท (จากเดิม 194,434.53 ล้านบาท เป็น 754,710.63 ล้านบาท) (2) แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่ม 387,758.52 ล้านบาท (จากเดิม 1,621,135.22 ล้านบาท เป็น 2,008,893.74 ล้านบาท) และ (3) แผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่ม 9,075.07 ล้านบาท (จากเดิม 390,538.63 ล้านบาท เป็น 399,613.70 ล้านบาท)

2.อนุมัติการบรรจุโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 จำนวน 56 โครงการ/รายการ

3.อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจจำนวน 1 แห่ง คือ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยให้ กคช.รับความเห็นของคณะกรรมการไปดำเนินการด้วย รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนฯ พ.ศ. 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 1 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฯ ดังกล่าวด้วย

4.รับทราบแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2571) และมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุน เพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะต่อไป

นายชัยกล่าวว่า ครม.ยังอนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง  พ.ศ. 2545

รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 1 และให้กระทรวงการคลัง  (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกัน และการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1

โดยมีรายละเอียด เช่น การปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน) จำนวน 424,000 ล้านบาท

การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 399,000 ล้านบาท

การปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบ Credit Line เพื่อต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 30,000 ล้านบาท

การปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะยาว เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น และการสิ้นสุดมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้กองทุนต้องชดเชยมากขึ้น เป็นต้น

โดยในการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้มีโครงการพัฒนาโครงการ และรายการที่ขอบรรจุเพิ่มเติม และต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 56 โครงการ/รายการ ในขณะที่คณะกรรมการได้ปรับลดโครงการตามแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2571) ลง 42 โครงการ ทั้งนี้ คณะกรรมการคาดการณ์ว่าระดับประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายหลังการปรับปรุงแผนฯ จะอยู่ที่ร้อยละ 61.29 (กรอบไม่เกินร้อยละ 70) และมีรัฐวิสาหกิจจำนวน 1 แห่ง ที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี คือการเคหะแห่งชาติซึ่งมี DSCR เท่ากับ 0.57 เท่า

ขณะที่สัดส่วนของหนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ อยู่ที่ 33.06% จากกรอบอยู่ที่ 35% สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดกำหนดกรอบไว้ 10% แต่ปีงบประมาณ 2567 ตามที่ปรับครั้งนี้จะอยู่ที่ 1.5% และหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้การส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.4% โดยกรอบจะต้องไม่เกิน 5%