Co-Working Space และ Co-Living Space (ตอนจบ)

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ พินิจ พิเคราะห์

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ www.facebook.com/Vikittichai

บทความตอนที่แล้วผมได้พูดถึงธุรกิจ Co-Working Space ว่าเป็นอย่างไรและได้เกริ่นถึงธุรกิจ Co-Living Space ซึ่งกำลังเริ่มที่จะได้รับความนิยมไปทั่วโลก ธุรกิจ Co-Living Space ได้ตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับชาวลอนดอนได้ค่อนข้างดี เนื่องจากปัจจุบันนี้ความต้องการห้องพักอาศัยขาดแคลนเป็นอย่างมาก ทำให้ลอนดอนเป็นเมืองที่จำนวนห้องพักที่ว่างมีอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในโลกนี้ อาคารเก่าๆ หลายอาคารได้ถูกดัดแปลงและปรับปรุงเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับ Co-Living Space ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวเมืองลอนดอน

อย่างที่ผมได้ทิ้งท้ายไว้ในบทความตอนที่แล้วว่า นอกจากกลุ่ม Gen Y ที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจนี้แล้ว ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เราแทบจะคาดกันไม่ถึงเลย ว่าจะให้ความสนใจที่จะมาใช้บริการของธุรกิจนี้ นั่นก็คือกลุ่มผู้สูงวัยหรือกลุ่ม Baby Boomer ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้หลายคนก็อยากจะอยู่ในสังคมของคนวัยเดียวกัน เพราะพูดจาภาษาเดียวกัน และเข้าใจกันได้มากกว่า มีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน และปกติที่พักแบบ Co-Living Space ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้ากลุ่มผู้สูงวัย ก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ในกรุงลอนดอนมีหลายโครงการแล้วที่เจาะลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งเมืองไทยก็เป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีคนไทยประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์แล้วที่มีอายุเกิน 60 ปี และจำนวนผู้สูงวัยก็จะมีอัตราเพิ่มขึ้นอีกในไม่กี่ปีข้างหน้า เชื่อว่า Trend ที่อยู่อาศัยแบบนี้ น่าจะเป็นที่นิยมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าในเมืองไทย ต้องจากนั้นยังมี Co-Living Space ที่เจาะกลุ่มสุภาพสตรีโดยเฉพาะ ทำให้สุภาพสตรีที่อาศัยอยู่ในโครงการเหล่านั้นรู้สึกอุ่นใจ สบายใจ และปลอดภัยมากขึ้น ในการที่จะอยู่อาศัยร่วมกันในที่อยู่อาศัยแบบนั้น

แนวคิดของการอยู่อาศัยแบบนี้ก็คือ “Breaking down fences and allow people to start sharing amenities in their living environment so that there is a quality of life but also a social activation.” ด้วยขนาดห้องพักที่ค่อนข้างเล็ก ผู้ประกอบการจึงมักสามารถตั้งราคาค่าเช่าได้ถูกกว่าอพาร์ทเม้นท์หรือคอนโดมิเนียมให้เช่าโดยทั่วไป จึงทำให้เกิดความนิยมใช้บริการของธุรกิจนี้มากขึ้น ปัจจุบันโครงการที่เป็น Co-Living Space บางแห่ง มีลักษณะเป็นแบบการขายขาดบางส่วน ร่วมกันกับการกันพื้นที่บางส่วนในโครงการเดียวกันไว้สำหรับให้เช่า โดยส่วนใหญ่จะมีอัตราส่วน 2 ต่อ 1

จากรายงานของเจแอลแอลกล่าวว่า ในเอเชีย ธุรกิจ Co-Living Space ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่กำลังเริ่มส่งสัญญาณการขยายตัว จีนนับเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจประเภทนี้เป็นประเทศแรกในเอเชีย โดย ‘ยูพลัส อินเตอร์เนชั่นแนล ยูธ คอมมูนิตี’ เป็นหนึ่งในแบรนด์โคลิฟวิ่งสเปซรายแรกๆ ที่เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจประเภทนี้ในจีนปี 2555 ตามมาด้วยผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีกหลายรายที่เกิดขึ้นในเมืองหลักๆ ของจีน ส่วนฮ่องกงซึ่งเป็นเมืองที่มีราคาที่อยู่อาศัยแพงที่สุดในโลก มีโครงการที่พักอาศัยให้เช่าในคอนเซ็ปต์ของโคลิฟวิ่งสเปซเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วเช่นกัน ส่วนสิงคโปร์กำลังอยู่ในช่วงทดสอบตลาด โดยบริษัทแอสคอทท์ได้เปิดแบรนด์ Co-Living Space ขึ้นในชื่อ ‘LYF’ ซึ่งจะบริหารในโครงการมิกส์ยูส ‘ฟูนัน’ ที่กำลังพัฒนาโครงการโดยแคปปิตอลแลนด์ ส่วนที่ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย แบรนด์โคลิฟวิ่งระดับอินเตอร์ ‘โรม’ ได้เปิดบริการในย่านอากาซากะของกรุงโตเกียว และเมืองอูบุดบนเกาะบาหลี

สำหรับประเทศไทย มีผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนไม่มากที่ให้บริการ Co-Living Space ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ แต่ส่วนใหญ่เน้นจับตลาดชาวต่างชาติที่เป็น Digital Nomad หรือนักพเนจรแห่งยุคดิจิตอล (ใช้เรียกกลุ่มคนที่ทำงานได้ทุกที่ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้สามารถทำงานและท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน) ส่วนใหญ่โครงการ Co-Living Space หลายแห่งจะมีการจัดพื้นที่ให้บริการ Co-Working Space ภายในโครงการด้วยเช่นกัน

สำหรับคนไทย Co-Living Space อาจยังไม่ใช่ที่ทางเลือกที่เป็นที่นิยม เนื่องจากยังมีที่พักอาศัยประเภทอื่นให้เลือกในอัตราค่าเช่าที่ไม่แพงมากจนเกินไป และให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า อย่างไรก็ดี เมืองใหญ่ดังเช่นกรุงเทพฯ ยังมีศักยภาพที่จะกลายเป็นตลาดของธุรกิจ Co-Living Space ได้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ มีขนาดเล็กลง จากราคาที่ดินในเมืองที่พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และอัตราค่าเช่าแพงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าให้สูงไล่ตามราคาต้นทุนของห้องพักอาศัยที่สูงขึ้น ทำให้ต่อไปนี้ จะเป็นการยากขึ้นสำหรับกลุ่ม Gen Y ที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือทำงานมายังไม่นาน จะมีกำลังซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในใจกลางเมืองที่ใกล้ที่ทำงานได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้คนกลุ่มนี้สนใจที่จะใช้บริการของธุรกิจนี้คือ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ เติบโตขึ้นในยุคเศรษฐกิจแบ่งปัน จึงคุ้นเคยกับนิยาม Sharing Economy เป็นอย่างดี

ถ้าธุรกิจนี้เริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย แน่นอนธุรกิจดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเม้นท์ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ หรือคอนโดปล่อยเช่า ย่อมจะต้องสูญเสียลูกค้าบางส่วนของกลุ่มนี้ไปอย่างแน่นอน ทางแก้ง่ายๆ ก็คือ จะต้องผันตัวเองไปทำธุรกิจแบบนี้แทนธุรกิจแบบเดิมๆ ที่เคยทำมา

 

คลิกอ่าน >>> Co-Working Space และ Co-Living Space (ตอนที่ 1)