Co-Working Space และ Co-Living Space (ตอนที่ 1)

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ พินิจ พิเคราะห์

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ www.facebook.com/Vikittichai

หลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า Co-Working Space อยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้บริการกับผู้ที่ต้องการเช่าใช้พื้นที่สำนักงานเล็กๆ ในใจกลางเมือง ที่ไม่สามารถที่จะสู้ค่าเช่าสำหรับพื้นที่สำนักงานในใจกลางเมืองที่แสนแพงได้ โดย Co-Working Space เริ่มต้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2548 ส่วนมากจะเป็นผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์ หรือนักวิชาชีพที่ทำงานคนเดียว โดยเฉพาะกลุ่ม Digital Nomad และ Startup ทั้งหลาย ซึ่งสามารถจะทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ขอเพียงแค่มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตให้ใช้เท่านั้น ซึ่งความต้องการเช่าเหล่านี้ อาจจะเป็นความต้องการเช่าในระยะสั้นและหรือระยะยาวก็ตาม โดยผู้เล่นรายใหญ่ใน Asia ก็คือ Naked Hub ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่เมือง Shanghai และ URWork ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่เมือง Beijing

จริงๆ แล้วความต้องการเหล่านี้มีมาอยู่ตั้งนานแล้ว แต่เพิ่งจะทำเป็นเรื่องเป็นราวก็ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก เราจะเห็นได้ว่าในเมืองใหญ่ๆ ล้วนแล้วแต่มี Co-Working Space ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนต้องมีกรุงเทพเป็นหนึ่งในเมืองที่มี Co-Working Space อยู่ด้วย โดยรายที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากหน่อยเช่น Hubba เพราะว่าเป็นรายแรกที่ทำธุรกิจนี้ในเมืองไทย เป็นต้น ปัจจุบันทั้งร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่และร้านกาแฟหลายแห่ง ก็ได้จัดแบ่งพื้นที่ภายในร้านหรือชั้นบนของร้านมาทำเป็น Co-Working Space ด้วยเช่นกัน โดยมีการคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายวันหรือรายเดือน ปัจจุบันนี้มีการคิดค่าใช้จ่ายแบบครึ่งวันก็มีแล้วในหลายแห่ง โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกวันละประมาณ 300 บาท

การที่ Co-working Space เป็นที่นิยม ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ผู้คนเหล่านั้นไม่ต้องการบรรยากาศที่ต้องมานั่งทำงานคนเดียว โดยเฉพาะคนที่มาจากต่างถิ่น แล้วย้ายเข้ามาทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ อาจจะไม่ค่อยมีเพื่อนหรือญาติพี่น้อง เนื่องจากมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ดังนั้น Co-working Space สามารถที่จะตอบโจทย์นี้ได้ ทำให้ผู้ที่มาใช้บริการได้มีโอกาสพบปะผู้ที่มาใช้บริการคนอื่นๆด้วย จึงมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรืออาจจะถึงขั้นส่งเสริมและ Barter ธุรกิจซึ่งกันและกันได้

ถัดมาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเริ่มได้ยินคำว่า Co-Living Space หรือบางคนอาจจะเรียกว่า Co-Housing ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจาก Co-Working Space โดยใช้ Concept เดียวกัน เทรนด์ที่อยู่อาศัยแบบนี้เริ่มกำลังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา WeWork ซึ่งเป็นรายใหญ่ที่ทำธุรกิจ Co-Working Space ก็ได้หันมาจับธุรกิจ Co-Living Space เช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า WeLive ก็ได้ผลตอบรับที่ดี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขยายสาขามากขึ้นเรื่อยๆ โดย Co-Living Space เป็นที่อยู่อาศัยขนาดเล็กคล้ายๆกับห้องสตูดิโอ เพียงแต่ว่าไม่มีส่วนที่เป็นครัว หรือห้องรับประทานอาหาร และห้องรับแขก โดยส่วนใหญ่จะมีห้องน้ำในตัว หรือถ้ากรณีที่ไม่มีห้องน้ำในตัว ก็จะมีห้องน้ำในพื้นที่ส่วนกลาง โดยเจ้าของธุรกิจก็จะมีการเตรียมพวกสบู่ ยาสระผมไว้ให้ตลอดเวลา โดยแยก ห้องดูทีวี ห้องออกกำลังกาย ห้องครัว พื้นที่รับประทานอาหาร ตลอดไปจนถึงห้องอ่านหนังสือ หรือห้องสมุด มาเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ใช้ร่วมกัน โดยเจ้าของธุรกิจ Co-Living Space จะเป็นผู้ตระเตรียมพวกสบู่ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ เอาไว้ให้ผู้ที่อาศัยอยู่ได้ใช้ร่วมกัน

จริงๆ แล้วดูไปธุรกิจนี้ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับธุรกิจ Hostel แต่ว่าจับลูกค้าต่างประเภทกัน โดย Hostel จะจับกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะสั้น ส่วนธุรกิจ Co-Living Space จะเจาะกลุ่มที่พักระยะยาว Co-Living Space ที่ดูดีหน่อย ก็อาจจะมีสระว่ายน้ำ ฟิตเนส ห้องโยคะ ฯลฯ เอาไว้ให้บริการกับผู้ที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมให้ผู้ที่อยู่อาศัย ได้มีโอกาสได้พบปะกัน ไม่ว่าจะเป็นปาร์ตี้ หรือกิจกรรม DIY การออกกำลังกาย การฝึกโยคะ เป็นต้น

คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า Co-Living Space ทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคน Gen Y ซึ่งเลือกที่จะใช้การเช่าแทนที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ โดยคนกลุ่มนี้นิยมที่จะใช้ Uber แทนที่จะเป็นเจ้าของรถยนต์ หรือใช้บริการ Airbnb ในการไปพักอาศัยเวลาท่องเที่ยว หรือเป็นสมาชิก Netflix แผนที่จะไปซื้อแผ่น DVD มาดู ในทำนองเดียวกันสำหรับที่อยู่อาศัยประเภทที่กำลังมาแรงของคนกลุ่มนี้ก็คือ Co-Living Space ซึ่งเข้ากับนิสัยของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี คือการได้ชอบพบปะผู้คน นอกจากนั้นธุรกิจ Co-Living Space ยังให้บริการคล้ายๆกับ Service Apartment คือมีการให้บริการซักอบรีดให้ด้วย แต่ให้บริการและมีความถี่ที่น้อยกว่า Service Apartment โดยส่วนใหญ่จะให้บริการเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายไปสำหรับการเข้าไปอยู่ใน Co-Living Space เมื่อเทียบกับการเช่าอาศัยแบบเดิมๆใน Apartment Service Apartment หรือคอนโดที่เจ้าของปล่อยเช่า เมื่อเทียบบริการและสิ่งที่ได้รับ ทำให้กลุ่ม Gen Y ส่วนหนึ่งยินดีที่จะเลือกที่จะใช้บริการ Co-Living Space

บทความหน้าเรามาดูกันครับว่า นอกจากกลุ่ม Gen Y ที่สนใจใช้บริการ Co-Living Space แล้ว ยังมีคนกลุ่มไหนอีกที่กำลังมาแรงสำหรับธุรกิจนี้ และธุรกิจอื่นๆ ที่อาจจะได้ผลกระทบจาก Trend การอยู่อาศัยแบบนี้

 

คลิกอ่าน >>> Co-Working Space และ Co-Living Space (ตอนจบ)