แนวโน้ม ‘อาหารและเครื่องดื่ม’ เพื่อสุขภาพ

แนวโน้มเทรนด์ ‘อาหารและเครื่องดื่ม’ เพื่อสุขภาพ
คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย ยงยุทธ เสาวพฤกษ์ ผอ.สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

หลายปีมานี้กระแสความตื่นตัวของคนไทยที่มีให้กับการออกกำลังกายมีแนมโน้มเพิ่มสูงขึ้น เราเห็นกีฬาหลากหลายรูปแบบครับที่ได้รับความนิยม ทั้งวิ่ง ขี่จักรยาน เล่นโยคะ ชกมวย รวมไปถึงการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ในฟิตเนสโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เน้นการกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ระบบเผาผลาญ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรง

แน่นอนว่าเป็นวิธีการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่ม NCDs (noncommunicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย

มีข้อมูลจาก Euromonitor International ที่นำเสนอเกี่ยวกับตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทย ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องครับ เฉลี่ยร้อยละ 3.5 ต่อปี มีมูลค่าราว 187,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในสังคมเมือง โดยพบว่าคนไทยนิยมบริโภคอาหารในกลุ่มฟังก์ชั่นนอล (funtional food) เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีการเติมสารอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพเช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงสมอง ผลิตภัณฑ์กลุ่มวิตามินต่าง ๆ หรือกลุ่มบิวตี้ดริงก์ เป็นต้น สามารถครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 62.3

รองลงมาคือ อาหารเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ ที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด เช่น นม ธัญพืช ผักและผลไม้ เป็นต้น มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21.7 ผลิตภัณฑ์ free from หรือปราศจากส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารกันเสีย GMO น้ำตาล และไขมันทรานส์ เป็นต้น มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.8 และอาหารออร์แกนิก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.3 หรือมูลค่าราว 555 ล้านบาท แต่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.0 ต่อปี

หากพิจารณาตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพตามชนิดสินค้า จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และ 2) อาหารเพื่อสุขภาพ

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีมูลค่า 86,700 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.0 ของตลาดทั้งหมด ที่เหลืออีกร้อยละ 54.0 เป็นตลาดอาหารสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพ มีมูลค่า 99,900 ล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.9 ต่อปี ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่ขับเคลื่อนให้ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเติบโตต่อเนื่อง

การเติบโตของอาหารเพื่อสุขภาพ

ที่ผมอยากขยายความและนำเสนอให้เห็นความสำคัญก็คือ การเติบโตของอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของอาหารสำเร็จรูป จากข้อมูลพบว่า อาหารสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยอันดับหนึ่ง คือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม มีมูลค่า 50,628 ล้านบาท เนื่องจากนมเป็นแหล่งโปรตีนและแคลเซียมราคาถูก หาซื้อได้ง่าย เช่น นมลดไขมัน โยเกิร์ตปราศจากน้ำตาล/ลดไขมัน เป็นต้น

อันดับสอง คือ อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับเด็ก มีมูลค่า 28,557 ล้านบาท เช่น นมผงสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็กที่เติมส่วนผสมที่เสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสาม แต่มีอัตราเติบโตสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.1 ต่อปี คือ ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ มีมูลค่า 3,756 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของตลาดอาหารสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพ แสดงว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ (baked goods) จากข้าว และผลิตภัณฑ์จากแป้งจำพวกเส้นก๋วยเตี๋ยว เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงสุดราวร้อยละ 10.4 ต่อปี

ซึ่งผมคิดว่าเป็นตลาดที่น่าจับตาทีเดียวครับ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ หรือมีศักยภาพการผลิตในไลน์ขนมขบเคี้ยวอยู่แล้ว หากได้มีการวิจัย ทดลองแปรรูปวัตถุดิบจากข้าว ธัญพืช หรือวัตถุดิบอื่น ๆ จากภาคเกษตรของไทย นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพให้ตรงใจผู้บริโภค
ทั้งในแง่คุณประโยชน์และรสชาติ

คาดว่าสิ้นปี 2561 นี้ ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทยในภาพรวมจะมีมูลค่า 191,893 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 2.8 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในช่วงชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมักจะมีราคาสูงกว่าอาหารทั่วไป ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพจึงหันไปดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปี 2565 ตลาดจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 213,099 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ต่อปี มีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ ใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเครียดมากขึ้น ไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย

ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงการมีสุขภาพที่ดี ทำให้ผู้บริโภคเสาะแสวงหาสินค้าเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

นอกจากนี้ ภาครัฐก็ให้การส่งเสริมให้คนไทยหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการหลีกเลี่ยงหรือลดการบริโภคอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำตาล และไขมัน และหันไปบริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น