“จีน” สร้างความมั่นคงทางอาหาร แผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูชาวชนบท

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว

ตามที่จีนได้มีแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบทของจีน (ปี 2516-2565) ในการพัฒนาการทำเกษตร และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนได้ชี้แนะการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารและผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของจีนในอนาคต โดยมีแผนในการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ (พื้นที่ 2 เขต) พื้นที่รวม 440.83 ล้านไร่ โดยจะเป็นพื้นที่ทางการเกษตรถาวรระยะยาวสำหรับการเพาะปลูกพืชที่กำหนด และไม่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรด้านอื่นได้ รายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1.การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารและผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ของจีนมาจากแนวคิดของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่กล่าวไว้ว่า “ชามข้าวของคนจีนจะต้องถือไว้อย่างมั่นคงด้วยมือของตัวเอง จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการยกระดับการผลิตข้าวและธัญพืชที่สำคัญ ให้มีความปลอดภัยและสามารถป้อนความต้องการบริโภคภายในประเทศได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศ”

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แนะในการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช (ข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด) พื้นที่ 375 ล้านไร่ และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ (ถั่วเหลือง ฝ้ายเมล็ด rapeseed อ้อย และยางพารา) พื้นที่ 99.17 ล้านไร่

2.การกำหนดโซนเพาะปลูกในพื้นที่ 2 เขต ทั่วประเทศ พิจารณาจาก รายงานว่าสภาพพื้นที่การเกษตรเดิมที่เคยทำการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ โดยใน 3 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชชนิดนั้นไม่ลดลง สภาพนิเวศวิทยาอยู่ในสภาพดี สภาพดิน และน้ำอุดมสมบูรณ์ ความลาดเอียงของพื้นที่น้อยกว่า 15 องศา และเลือกพื้นที่ให้ต่อเนื่องกันเพื่อพัฒนาเป็นแปลงใหญ่ หากเป็นที่ราบรวบรวมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 500 หมู่ (208.33 ไร่) หากเป็นที่บริเวณภูเขารวมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 หมู่ (20.83 ไร่)

ทั้งนี้ หากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการพัฒนาการเกษตรมาตรฐานระดับสูงอยู่แล้วก็จะได้รับคัดเลือกก่อน หากเป็นพื้นที่เพาะปลูกยาง ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอากาศที่หนาวเย็น และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 900 ม. เพื่อให้ง่ายต่อการกรีดยาง

3.รัฐบาลระดับมณฑลจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการเลือกพื้นที่ 2 เขต ที่นำเสนอจากเมืองและอำเภอต่าง ๆ ในมณฑล แล้วจึงส่งข้อมูลให้กับกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสำเนาให้กับกระทรวงการคลัง กระทรวงที่พักอาศัยและการพัฒนาเขตเมือง-ชนบท และกระทรวงทรัพยากรน้ำ

โดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจะเป็นผู้ชี้แนะการสร้างแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ และฐานข้อมูลเพื่อสามารถรวมให้เป็นภาพใหญ่ของทั้งประเทศ และจะต้องรายงานผลการดำเนินงานการจัดสร้างเขต ให้กับคณะรัฐมนตรีทราบด้วย

4.การดำเนินการสร้างพื้นที่ 2 เขต เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะส่งเสริมให้เป็นการทำการเกษตรแบบมาตรฐานสูง สร้าง และพัฒนาสาธารณูปโภคด้านน้ำที่ใช้ในการเกษตร และการทำระบบให้เข้าสู่แปลงโดยชลประทานประหยัดน้ำ การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีและให้ผลผลิตสูง ยกระดับให้เป็นการทำการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต และ cloud รวมถึงระบบข้อมูล big data เข้ามาร่วมด้วย

5.สร้างการรับรู้ด้านนโยบายเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าร่วม โดยรัฐบาลกลางและท้องถิ่นมีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้หลักประกันในการใช้พื้นที่ในการพัฒนาการเกษตร เพื่อสร้างเขตพื้นที่ผลิตข้าวและธัญพืช และพืชเกษตรที่สำคัญในระยะยาว การสนับสนุนก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อใช้ในการเกษตรจนถึงระดับแปลง การหาแหล่งเงินกู้ยืมให้กับเกษตรกร/ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ การประกันความเสียหายในการเพาะปลูก เป็นต้น

6.เป้าหมายภายในปี 2563 สามารถกำหนดพื้นที่ทั้ง 2 เขต ให้ได้ตามที่วางแผนไว้ 440.83 ล้านไร่ โดยแต่ละมณฑลต้องกำหนดพื้นที่จริงที่สามารถทำการเพาะปลูกพืชชนิดนั้น ๆ ให้แล้วเสร็จ และส่งข้อมูลให้รัฐบาลกลาง รวมถึงการนำข้อมูลเข้าระบบเพื่อสร้างแผนที่พื้นที่เพาะปลูก มีระบบในการปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศและการควบคุมการเกษตรแบบแม่นยำภายในปี 2565 แล้วเสร็จการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการพัฒนาศักยภาพในการผลิต โดยมีระบบการบริหารจัดการที่พร้อม และเป็นการทำเกษตรแบบสมัยใหม่

7.ในปี 2560 จีนมีพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรรวม 843.01 ล้านไร่ โดยพื้นที่ 2 เขต ตามแผนที่วางไว้จะมีพื้นที่รวม 440.83 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.29 ของพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรในปี 2560 และเมื่อพิจารณาพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรถาวรที่มีประมาณ 644.17 ล้านไร่ พื้นที่ 2 เขต จะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.43 ของพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรถาวรของจีน

8.เมื่อพิจารณาอัตราอากรการนำเข้าข้าวและธัญพืช รวมถึงสินค้าเกษตรที่สำคัญ พบว่า สินค้าตามแผนการสร้างพื้นที่ 2 เขต ที่อยู่ในรายการที่กำหนดนั้น รายการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว น้ำตาล และฝ้าย เป็นสินค้าที่จีนควบคุมการนำเข้าโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น การกำหนดโควตาในการนำเข้า และการกำหนดอากรนำเข้า (สินค้าเกษตรที่นำเข้าจีนจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 ในขณะที่สินค้าเกษตรแปรรูปจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 16)

แสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับเกษตรกรในประเทศที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และพืชเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเพาะปลูกในพื้นที่ 2 เขต มีความมั่นใจและเชื่อมั่นว่าผลผลิตที่เพาะปลูกได้จะไม่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตจากต่างประเทศที่จะเข้ามาตีตลาดในจีน

โดยฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้เสนอข้อคิดเห็นดังนี้

1.การที่จีนวางยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบทของจีนสะท้อนให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างเป็นระบบ โดยหนึ่งในแผนการดำเนินงานที่สำคัญคือ การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารและผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของจีน โดยการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เพื่อให้จีนสามารถมีผลผลิตข้าวและธัญพืชเพียงพอในการบริโภคในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาต่างประเทศและมีผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญบริโภคและใช้ในประเทศลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยพัฒนาให้เป็นการเกษตรสมัยใหม่ มีการใช้เครื่องจักรกล เทคโนโลยี และสารสนเทศ รวมถึงการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เข้ามาช่วยในการทำการเกษตร อันจะนำไปสู่การเกษตรที่มีประสิทธิภาพ (ต้นทุนการผลิตลดลงโดยมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น) การเกษตรแม่นยำ ได้ข้อมูลทันเวลา เพื่อที่จะสามารถวางแผนในการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดได้อย่างรอบด้าน

2.ภายหลังปี 2565 ที่จีนตั้งเป้าหมายบรรลุแผนการสร้างพื้นที่ 2 เขต คาดว่าผลผลิตที่จีนจะสามารถผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศได้อย่างเพียงพอ และเหลือส่งออก คือ ข้าวสาร และข้าวสาลี โดยพิจารณาจากสถิติการนำเข้าในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2561 พบว่า มีการนำเข้าลดลงร้อยละ 22.1 และ 32.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.7 และ 79.5 ตามลำดับ

3.การสร้างและพัฒนาพื้นที่ 2 เขตดังกล่าว น่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่มากก็น้อย หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถวางแผนในการรับมาอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันการ