เรื่องเล่า ชาว “RCEP”

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย กมลพงศ์ วิศิษฐวาณิชย์

แม้สายฝนที่โปรยปรายในระยะนี้จะช่วยลดอุณหภูมิความตึงเครียดของการเจรจา RCEP ให้ผ่อนคลายขึ้น ราบรื่นขึ้น และเริ่มฉายภาพความสำเร็จในอีกไม่ช้า อย่างไรก็ดี คำถามที่ว่าการเจรจา RCEP จะจบเมื่อไหร่ ? ก็ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่สามารถตอบได้อย่างเต็มปาก

บางคนก็เดาว่าปีหน้า บางคนก็บอกว่าปีนี้ (พ.ศ. 2562) และอีกหลายความเห็นก็บอกว่า ควรจบตั้งนานแล้ว…อ้าววว !! แล้วทีนี้จะคอนเฟิร์มได้ตอนไหนละว่า การเจรจา RCEP จะจบเมื่อไหร่… เอาเป็นว่าถ้าตอบตามเป้าหมายของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี RCEP กำหนดไว้ก็คาดว่า จะสามารถบรรลุผลการเจรจาได้ภายในปี พ.ศ. 2562

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า อาร์ (R) ซี (C) อี (E) พี (P) นี้คืออะไร ???? RCEP คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ กรอบการเจรจาเปิดเสรีระดับพหุภาคี ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอาเซียน อีก 6 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย

โดยเหตุผลหลักที่ 16 ประเทศนี้มารวมตัวกันก็เพราะมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (ครอบคลุมหนึ่งในสามของเศรษฐกิจโลก) เพื่อเปิดการค้าเสรีภายใต้ความตกลงที่มีคุณภาพ ทันสมัย และครอบคลุมทุกมิติการค้า อาทิ การค้าสินค้า การค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน

สำหรับกลไกการเจรจา RCEP จะมีคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาในภาพรวม โดยมีคณะทำงานและคณะทำงานย่อยด้านต่าง ๆ แยกออกไปเจรจาในประเด็นเฉพาะทาง อาทิ คณะทำงานด้านการค้า สินค้า คณะทำงานด้านการค้าบริการ คณะทำงานด้านการลงทุน คณะทำงานด้านการแข่งขัน คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คณะทำงานย่อยสาขาการค้าบริการด้านการเงิน และคณะทำงานย่อยด้านบริการโทรคมนาคม เป็นต้น

RCEP เริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แต่ทว่าการเจรจาไม่สามารถหาข้อสรุปแล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสั้นเหมือนดั่งใจนึก ยิ่งมีประเทศสมาชิกมากเพียงใด ก็ยิ่งมีความเห็นที่หลากหลาย ยากต่อการประสานหาท่าทีกลางระหว่างกัน

นอกจากนี้ หากพิจารณาระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก RCEP ก็จะเห็นได้ว่า มีระดับของการพัฒนาที่ค่อนข้างแตกต่างกันอยู่มาก จึงนับว่าเป็นความท้าทายของผู้เจรจากรอบนี้ที่จะต้องทำการศึกษาเชิงลึก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเจรจาในส่วนของประเทศตนเอง รวมถึงยังต้องมีความเข้าใจในส่วนของประเทศสมาชิก RCEP ต่าง ๆ ด้วย

ซึ่งยังมีอีกความท้าทายหนึ่งของการเจรจา RCEP คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จะต้องกำหนดท่าทีให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อใช้สำหรับเจรจาต่อรองกับอีก 6 ประเทศคู่เจรจาอาเซียน ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ได้มาซึ่งท่าทีกลางของอาเซียน และสามารถนำไปใช้เจรจากับประเทศคู่เจรจาอาเซียนทั้ง 6 ประเทศต่อไป

หากมองการเจรจา RCEP ในด้านสาขาการค้าบริการด้านการเงิน หรือเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า สาขาบริการทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน 4 หน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบต่อการเจรจา RCEP คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการบริการด้านการเงินจะครอบคลุม 3 สาขา ได้แก่ การธนาคาร ประกันภัย และหลักทรัพย์

ภายใต้ความตกลง RCEP ก็จะมุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับพันธกรณีให้ผูกพันมากกว่าความตกลงเก่า ๆ ที่เคยมีมา เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น และความตกลงอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น

ปัจจุบันความตกลงสาขาการค้าบริการด้านการเงิน ภายใต้ความตกลง RCEP สามารถหาข้อสรุปได้แล้ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าท่าทีและข้อกังวลที่แตกต่างกันของ 16 ประเทศสมาชิก RCEP จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเจรจา RCEP บรรลุผลล่าช้ากว่าเป้าหมายมาหลายครั้ง แต่ ณ จุดนี้ จึงขอพยากรณ์แบบโลกสวยไว้ว่า การเจรจา RCEP สามารถหาข้อสรุปได้อย่างมีนัยสำคัญภายในปี พ.ศ. 2562

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน