ถึงเวลา…คนท่องเที่ยว (ต้อง) คิดใหม่ ทำใหม่ ?

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

 

ใคร ๆ ก็พูดว่า แม้ว่าปีนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตไม่หวือหวานัก แต่ยังเชื่อว่า “การท่องเที่ยว” จะยังคงเป็นเครื่องยนต์ตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศ

แต่ทำไมในช่วงปี 2 ปีนี้ ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพุดคุยกับคนในแวดวงท่องเที่ยว ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “แย่” ถึง “แย่มาก”

โดยเฉพาะกลุ่มบริษัททัวร์ที่ทำตลาดอินบาวนด์ นำคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวในเมืองไทย

กลุ่มผู้ประกอบการอินบาวนด์จำนวนไม่น้อยออกปากยอมยก “ธงขาว” ขอพักนิ่ง ๆ รอดูสถานการณ์ดีกว่า บางบริษัทที่ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้เพราะมีพนักงานต้องรับผิดชอบ ต่างก็ลดจำนวนลง เพราะยิ่งรับทำทัวร์มากเท่าไหร่ ยิ่งเจ็บตัวมากเท่านั้น โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ของไทย

ขณะที่ตัวเลขภาพรวมเชิงสถิติจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-สิงหาคม 2562) ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.83% และมีอัตราการเติบโตของมูลค่ารายได้รวมอยู่ที่ 2.91%

ที่สำคัญ ในตลาดหลักไม่ว่าจะเป็น อาเซียน, เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้น ยุโรปที่ติดลบ 1.89% และจีนติดลบ 0.79%

เมื่อภาพรวมออกมาแบบนี้ แล้วทำไมบริษัทนำเที่ยว คนในแวดวงการท่องเที่ยวถึงบ่นกันว่า “แย่” และ “แย่มาก”

คำถามที่ตามมา คือ เกิดอะไรกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ?

คำตอบหนึ่งผู้เขียนได้รับรู้มา คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในขณะนี้มีปัญหา “ใต้พรม” ที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมองไม่เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก

ที่บอกว่า “มองไม่เห็น” นั้น มีทั้งเห็นจนชิน เลยไม่คิดว่ามันคือปัญหา และที่ไม่รู้จริง ๆ เพราะผู้ประกอบการภาคเอกชนไม่เคยสะท้อนปัญหาจริงออกมาให้สังคม และภาครัฐรับรู้ รวมทั้งปัญหาบางเรื่องบางประเด็นที่คนท่องเที่ยวเองก็บอกใครไม่ได้ เพราะเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก แต่ทำกันมาจนเคยชิน

ชินจนเข้าใจว่ามันคือระบบและกลไกของตลาด

ในภาวะเศรษฐกิจดี บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวดี ผู้ประกอบการก็มองข้ามปัญหา “ใต้พรม” ทั้งหลายเหล่านี้ไป แต่ทันทีที่เกิด “วิกฤต” เศรษฐกิจ รูปแบบ และวิธีการทำธุรกิจนำเที่ยวเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

ว่ากันว่า ณ เวลานี้ ผู้ประกอบการนำเที่ยวโดยเฉพาะตลาดอินบาวนด์ ต้องทนฝืนยิ้ม กลืนน้ำตา เมื่อสื่อถามแม้จะไม่ไหวก็ต้องตอบว่า “ไหว” หรือไม่ก็ “ยังโอเค”

ที่สำคัญ คนที่เป็น “ผู้นำ” และนั่งบริหารงานในตำแหน่งนายกสมาคมหลัก ๆ ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวก็ไม่สะท้อนปัญหาจริงที่เกิดขึ้น ยังคงยืนยันภาพที่เป็นบวกของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ยกตัวอย่าง กรณีล่าสุดที่บริษัทนำเที่ยวระดับโลกอย่าง “Thomas Cook” ประกาศเลิกกิจการ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่สมาคมท่องเที่ยวที่ดูแลตลาดอินบาวนด์ของไทยยังยืนยันว่า การปิดตัวของบริษัทนำเที่ยวยักษ์ใหญ่รายนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยวในเมืองไทยไม่มากนัก เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ เพราะในห้วงเวลานี้เป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากโซนยุโรป อังกฤษ

ขณะที่ในความเป็นจริงนั้น นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป อังกฤษ เยอรมัน คือ ลูกค้าหลักของจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา ฯลฯ แน่นอนการปิดตัวของ “โทมัส คุก” นั้นย่อมทำให้ราคาทัวร์ในยุโรปเพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องเข้ามากำกับดูแลมากขึ้น และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กรณีนี้ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัททัวร์ได้รับผลกระทบ

แต่ในภาพรวมความเป็นจริง เรายังต้องมาลุ้นกันว่า นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะยังเดินทางมาพักผ่อนในเมืองไทยตามแผนเดิมหรือไม่ อย่างไร

เมื่อทุกอย่างเป็นแบบนี้ เอกชนไม่กล้านำเสนอข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนภาครัฐไม่มีทางรับรู้ปัญหา เอกชนก็ได้แค่บ่นว่า “ภาครัฐ” แก้ปัญหาไม่ “ตรงจุด”

คำถามคือ… ท่องเที่ยวของไทยในเวลานี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหันมาพูดความจริง และทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่ เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนที่แท้จริง

ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ใครเงินหนาก็อยู่รอดปลอดภัย ใครไม่มีเงินมาต่อกร ก็ต้องปิดตัวลงไป เมื่อถึงเวลานั้น มาตรการอะไรก็คงไม่สามารถ “ปั๊มหัวใจ” คนท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมาได้

สุดท้าย เป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกก็คงเป็นได้แค่เพียง “ความฝัน” เท่านั้น