TCU “มหาวิทยาลัยไซเบอร์” เปิดกว้าง…เรียนรู้ตลอดชีวิต

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

 

โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ หรือ Thailand Cyber University (TCU) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจัดตั้งขึ้น และเริ่มส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาภาครัฐ ร่วมกันผลิตชุดวิชา บทเรียนออนไลน์ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2540-2545 ขยายบทบาทส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) พัฒนาระบบเรียนรู้ทางไกลผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ (e-Learning) สนองนโยบายพัฒนาทุนมนุษย์ภาครัฐ ตามสโลแกน Anytime Anywhere Everyone can Learn หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาคนไทยให้ก้าวตามโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

ในการดำเนินการ EDTA ให้ความอนุเคราะห์ในการพัฒนาระบบลงทะเบียนแบบ singel sign on ผ่านช่องทาง EDTA Connect ให้ข้าราชการลงทะเบียนเข้าเรียนวิชาต่าง ๆ ในระบบการเรียนรู้ของ TCU โดยไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคล และเมื่อเรียนรายวิชาใดสำเร็จ ข้อมูลผลการเรียนจะถูกส่งเข้าบันทึกไว้ในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติข้าราชการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Smart ก.พ. 7 เพื่อประโยชนในการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการ

ขณะนี้ ก.พ.อยู่ระหว่างการทดสอบระบบการลงทะเบียนแบบ singel sign on ผ่านช่องทาง EDTA Connect และระบบ Smart ก.พ. 7 พร้อมเชิญชวนให้ข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ เข้าเรียนรู้รายวิชาต่าง ๆ ในระบบการเรียนรู้ของ TCU เพื่อทดสอบและปรับปรุงระบบให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยไซเบอร์ แต่ไม่รู้ถึงบทบาท หน้าที่ เลยถือโอกาสนี้แนะนำส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลในเว็บไซต์ www.thaicyberu.go.th เผื่อใครสนใจสมัครเข้าเรียน

TCU จัดตั้งขึ้นจากเหตุผลหลักการที่ว่า มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาจำนวนมาก เริ่มให้มีการใช้บทเรียนออนไลน์ เป็นส่วนเสริมในการเรียนการสอน แต่ยังไม่มีหลักสูตรออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถเรียนออนไลน์จนจบถึงขั้นได้รับปริญญาบัตร

นอกจากนี้ ในการเรียนการสอน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งจะใช้ทรัพยากรของตนเอง แต่การเรียนบทเรียนออนไลน์จะเรียนที่ไหนก็ได้ ขณะที่หลักสูตรของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่เหมือนกัน ก็มีมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นหากมีการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน และให้มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งนำบทเรียนออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นไปใช้ ในลักษณะ shared e-Courseware เท่ากับช่วยประหยัดทรัพยากร ค่าใช้จ่าย

สกอ.จึงได้จัดตั้งโครงการ TCU เพื่อให้บริการการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนทุกระดับ ทุกอาชีพ ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (Inter-University Network : UniNet) เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในวงกว้างเพิ่มขึ้น โดย TCU ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานงานกับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา จัดทำหลักสูตรออนไลน์ร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา จะเป็นเจ้าของหลักสูตร และเป็นผู้อนุมัติปริญญาบัตรให้นักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตร แต่ในระหว่างเรียนสามารถใช้ชุดวิชาบทเรียนออนไลน์ในหลักสูตรร่วมกันได้ ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีของ UniNet ซึ่งเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

ภารกิจหน้าที่ของ TCU คือ

-การส่งเสริมให้สถาบันการศึกษา องค์กรต่าง ๆ จัดทำและสนับสนุนให้มีการทำสื่อการเรียนรู้ e-Learning

-ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู อาจารย์ นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ทรงคุณวุฒิ ในแขนงต่าง ๆ จัดทำ learning object และให้มีการแบ่งปันการใช้งานร่วมกันเป็น share learning resource

-ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู อาจารย์ นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ทรงคุณวุฒิในแขนงต่าง ๆ จัดทำบทเรียน e-Courseware เป็น online course ทั้งที่เป็น self-pace sourse, collaborative course และ sup-plement course

-จัดหา virtual library เป็น e-Library, e-Book, e-Journal, e-Thesis เพื่อใช้เป็นแหล่งแสวงหาความรู้ต่าง ๆ

-จัดหาและดูแลระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง เพื่อใช้จัดเก็บ learning resources ให้สามารถแบ่งปันการใช้งานร่วมกันได้

-จัดหาและดูแลระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง เพื่อใช้บริหารจัดการ online course (content management system : CMS) พร้อมทั้งมีระบบบริหารจัดการการเรียนการสอน (learning management system : LMS)

-จัดหาและดูแลระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง เพื่อใช้บริหารจัดการการลงทะเบียนเรียนของผู้เรียน (student management system : SMS)

-จัดหา facilities ต่าง ๆ เช่น software พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมการใช้งาน เพื่อสนับสนุนให้ครู/อาจารย์ ทำ learning object และ e-Courseware

-ขยายและดูแล network infrastructure เพื่อให้ความสะดวกต่อผู้เข้ามาใช้บริการในโครงการ TCU

ตั้งแต่เปิดให้บริการ TCU-LMS เมื่อ 12 ม.ค. 2548 และ Thai MOOC เมื่อ 1 ก.ย. 2559 ถึงปัจจุบัน TCU-LMS มีจำนวนสมาชิก 267,406 คน จำนวนวิชา 870 วิชา มีการลงทะเบียนเพื่อเข้าเรียน 517,335 คน มีสถาบันร่วมโครงการ 58 สถาบัน และ Thai MOOC มีจำนวนสมาชิก 243,604 คน จำนวนวิชาเรียน 406 วิชา การลงทะเบียนเพื่อเข้าเรียน 468,700 คน สถาบันร่วมโครงการ 95 สถาบัน

เป็นสรรพวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์รวมของสรรพวิทยาการ ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ครอบคลุมการศึกษาในทุกระบบ ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน (formal education) นอกระบบโรงเรียน (nonformal education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (informal education) ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ตลอดชีวิตได้