Active Packaging เทรนด์บรรจุภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย อภินันทร์ สู่ประเสริฐ รอง ผอ.ศูนย์วิจัย Krung thai COMPASS

การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในธุรกิจอาหาร ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง โดยที่อาจมองข้ามความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ไป สำหรับไทยซึ่งวางบทบาทเป็นครัวของโลก จำเป็นต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะ active packaging ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์บรรจุภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ

หลายท่านคงตั้งคำถามว่า แล้ว active packaging ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้อย่างไร ? แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผู้อ่านคงต้องเข้าใจก่อนว่า active packaging คืออะไร

active packaging นอกจากทำหน้าที่เหมือนบรรจุภัณฑ์ทั่วไปที่ช่วยปกป้องอาหารไม่ให้เกิดความเสียหาย และช่วยให้เกิดความสะดวกในระหว่างการขนส่งสินค้าและการจำหน่ายแล้ว ยังช่วยยืดอายุการเก็บรักษา (shelf life) ผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อคงคุณภาพทั้งในด้านสี รสชาติ คุณค่าทางอาหาร รวมทั้งความปลอดภัยของอาหารไว้ให้ได้นานขึ้น เหมาะกับผู้ประกอบการที่ยังมีอายุการเก็บรักษาของอาหารสั้นกว่ามาตรฐาน จนเกิดปัญหาต้นทุนที่สูงทั้งจากการสูญเสียของอาหารและการตีกลับสินค้าเนื่องจากผลิตภัณฑ์เน่าเสียก่อนถึงมือผู้บริโภค

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี active packaging ในต่างประเทศ ได้แก่ ผู้ผลิตไส้กรอกแบรนด์ Big Fork ที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติร่วมกับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากฟิล์มพิเศษที่ช่วยยืดอายุไส้กรอกให้เก็บได้นานขึ้น ทดแทนการใช้สารกันบูด หรือบริษัท StePac ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ที่ร่วมมือกับผู้ส่งออกในเปรู และชิลี ในการใช้ active packaging ชื่อ Xtend โดยใช้เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ดัดแปลงบรรยากาศ (modified atmosphere packaging : MAP) เพื่อให้ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้สามารถส่งออกบลูเบอรี่ไปตลาดจีน ซึ่งต้องใช้เวลาขนส่งนาน โดยยังคงความสดอยู่แม้เวลาผ่านไปแล้วถึง 35 วัน

สำหรับประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่เริ่มใช้เทคโนโลยี active packaging แล้ว เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ใช้ active packaging ในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ที่บริษัทจำหน่ายเอง ทำให้ลดการสูญเสียผักและผลไม้สดได้ถึงร้อยละ 7-8 โดยสามารถเก็บรักษาผัก ผลไม้ให้สดได้นานขึ้นกว่าถุงพลาสติกธรรมดาทั่วไปสูงสุด 2-5 เท่า หรือบริษัท จันทร์สุวรรณ ผู้ผลิตขนมโมจิ ในจังหวัดนครสวรรค์ ที่พัฒนาบรรจุภัณฑ์ active packaging ซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บรักษาขนมโมจิ ให้นานขึ้นเป็น 2 เดือน จากเดิมที่สามารถเก็บได้เพียง 14 วัน

อย่างไรก็ตาม ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี active packaging ต้องพิจารณาการยอมรับจากผู้บริโภคร่วมด้วย โดยจากรูปที่ 1 แม้การใช้ active packaging ที่เป็นแผ่น/ซองใส่ในบรรจุภัณฑ์ (sachet) มีต้นทุนส่วนเพิ่มต่อหน่วยที่ถูกกว่า แต่พบว่าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคน้อยกว่าแบบที่เป็นส่วนหนึ่งของวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ เช่น การใช้ฟิล์มที่เคลือบสารต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือฟิล์มที่ช่วยดัดแปลงสภาวะบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว

เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนกังวลว่าจะเกิดการแตกหรือรั่วไหลของสารในซองดังกล่าวจนปนเปื้อนในอาหาร รวมทั้งผู้บริโภคที่เป็นเด็กอาจเข้าใจว่าซองดังกล่าวสามารถรับประทานได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน รวมทั้งรูปแบบของเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับอาหารแต่ละประเภทด้วย

กลับมาคำถามที่ว่า active packaging ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้อย่างไร ? ประการแรก active packaging ช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าการสูญเสียถึงร้อยละ 30 หรือกว่า 188,000 ล้านบาท

สอดคล้องกับบทความเรื่อง “Postharvest Technology of Horticultural Crops in Thailand” ของกรมวิชาการเกษตรที่พบว่า ปัญหาสูญเสียของอาหารในกลุ่มประเทศอาเซียน และเอเชียใต้ ตั้งแต่หลังกระบวนการเก็บเกี่ยวจนถึงก่อนถึงมือผู้บริโภค คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 12-44 โดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่งมีการสูญเสียของอาหารมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเก็บรักษาและใช้บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการจัดส่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้อายุการเก็บรักษาของผลผลิตสั้นลง

ประการที่สอง active packaging ช่วยธุรกิจอาหารรับมือกับความท้าทายของผู้ประกอบการในยุคอาหาร clean label หรืออาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสารสังเคราะห์และสารกันบูด แต่ยังสามารถคงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารไม่ให้เน่าเสียไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยตัวอย่างของผู้ประกอบการในต่างประเทศที่เริ่มให้ความสำคัญกับเทรนด์ clean label เช่น Aldi ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตของเยอรมนี ประกาศว่าจะไม่ใช้สารเติมแต่งและสารกันบูด 200 ชนิด ในผลิตภัณฑ์ของบริษัท หรือบริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก เช่น Campbell Soup,Kellogg และ Nestle ที่ประกาศว่า จะไม่ใช้สารเติมแต่งในผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

การติดฉลากว่าปลอดสารกันบูด (no preservatives) เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากที่สุด จากรายงาน The Transparency Imperative Product Labeling From The Consumer Perspective 2018 ของ Food Marketing Institute พบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐมองว่า การติดฉลากที่แสดงว่าอาหารดังกล่าวปลอดสารกันบูด เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากที่สุด ถึงร้อยละ 42 รองลงมา คือ ปลอดสารให้กลิ่นรสสังเคราะห์ (free from artificial flavors) ปลอดสารให้สีสังเคราะห์ (free from artificial colors) และไม่ตัดแต่งพันธุกรรม (non-GMO) คิดเป็นร้อยละ 37 34 และ 34 ตามลำดับ (เมื่อพิจารณาเฉพาะอาหารประเภท clean label) ขณะที่จากผลการวิจัยล่าสุดของ Kerry Group ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในธุรกิจอาหารพบว่า ร้อยละ 53 ของผู้บริโภคที่อ่านฉลาก ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก clean label ติดอยู่

ประการที่สาม ช่วยแก้ pain point ของผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มที่มี shelf life สั้น ซึ่งมักมีอุปสรรคในการส่งไปยังตลาดที่ห่างไกล เพราะเกิดปัญหาสินค้าเน่าเสียระหว่างการขนส่ง และหากขนส่งทางเครื่องบินก็ไม่คุ้มค่า เนื่องจากมีค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง ดังจะเห็นได้จากประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกกล้วยรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก สามารถส่งออกกล้วยซึ่งเป็นผลไม้ที่มี shelf life สั้น เพียง 2-7 วัน ไปตลาดส่งออกที่มีระยะทางเฉลี่ยไกลถึง 10,311 กิโลเมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะทางในการส่งออกกล้วยในตลาดโลกถึง 2 เท่า

ทำให้เอกวาดอร์มีความได้เปรียบในตลาดส่งออก ซึ่งความได้เปรียบดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สมาคมการตลาดและส่งออกกล้วยของเอกวาดอร์ ร่วมมือกับเกษตรกรและผู้ส่งออกกล้วยในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ active packaging ที่ช่วยดูดซับ ethylene ซึ่งเป็นก๊าซที่เป็นสาเหตุทำให้ผลไม้เน่าเสียเร็ว ส่งผลให้สามารถยืดอายุความสดของกล้วยได้นานถึง 70 วัน

ประการที่สี่ ช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารขยายตลาดในกลุ่ม e-Grocery และ food delivery รองรับตลาด e-Commerce ที่เติบโต โดยแม้ตลาด e-Commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่จากรายงานของ Morgan Stanley พบว่า ตลาด e-Commerce ในกลุ่มสินค้าอาหารกลับมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยในตลาดสหรัฐ และสหภาพยุโรป พบว่ามีเพียงร้อยละ 2 และ 6 ของตลาดอาหารรวม และจากข้อมูลของ Freedonia Group พบว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคลังเลที่จะใช้บริการ เนื่องจากกังวลว่าสินค้าไม่สด เน่าเสีย หรือปนเปื้อนในระหว่างการจัดส่ง

ความท้าทายของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในการขยายตลาด e-Commerce ทำให้มีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในต่างประเทศร่วมมือกับผู้ผลิตและผู้ขายอาหารในการขยายตลาด online อาทิ บริษัท Sealed Air ที่นำเสนอ active packaging ที่ชื่อ Cryovac ? Darfresh ? เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่ต้องการขยายตลาดออนไลน์ โดยบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวช่วยลดการเน่าเสียและเพิ่ม shelf life ของอาหาร นอกจากนี้ยังป้องกันการรั่วซึมในระหว่างการขนส่ง ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับอาหารจนถึงมือผู้บริโภค จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อขยายตลาดในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

แต่ท้ายที่สุด เนื่องจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์รูปแบบดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับ R&D ดังนั้น หนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี active packaging คือ การเป็น partnership กับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วย 1) หน่วยงานวิจัยจากภาครัฐ หรือสถาบันการศึกษา 2) ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย active packaging เพื่อลดความเสี่ยงในการทำ R&D เอง

เพราะการปรับปรุงฟังก์ชั่นการทำงานของบรรจุภัณฑ์ต้องไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารตกค้าง รวมทั้งรสชาติ สี กลิ่น และสารอาหารเปลี่ยนไป


หมายเหตุ : ข้อมูลจาก:Piyaporn Boonlert <[email protected]