วิชาชีพวิศวกรรม ความปกติใหม่หลังโควิด

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ที่ปรึกษาอาวุโส คณะกรรมการบริหาร บมจ.ทีม คอนซัลติ้งฯ

การระบาดโรคโควิด-19 เป็นปัญหาด้านสุขภาพครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่ตามมาคือ ผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมต่างพยายามคาดเดาว่าผลกระทบต่อวิชาชีพจะเป็นเช่นใด ส่วนใหญ่เชื่อว่าผลกระทบต่ออุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้างจะมีทั้งในระยะสั้นและยาว จนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปฏิบัติงานอย่างครบวงจร

ผลกระทบระยะสั้น บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก Deloitte ได้คาดการณ์ว่าในระยะสั้น โครงการต่อเนื่องยังคงต้องดำเนินต่อไปตามสัญญา จนถึงจุดติดขัดเพราะการขาดแคลนวัสดุจากห่วงโซ่การผลิตที่หยุดชะงักไป และการขาดแคลนแรงงานที่เกิดจากความลำบากในการย้ายถิ่นฐานกลับมาของแรงงานต่างชาติ หน่วยงานของรัฐเองก็อาจระงับหรือเลื่อนสัญญาที่ไม่สำคัญ เพื่อรักษากระแสเงินสดและควบคุมค่าใช้จ่ายของรัฐ ส่วนผู้ลงทุนภาคเอกชนก็พร้อมที่จะลดความเสี่ยงโดยเลื่อนโครงการออกไปเพราะความไม่ชัดเจนของตลาด

สำหรับประเทศไทย บริษัทวิศวกรรมคงจะผลักดันโครงการที่ค้างอยู่ในท่อให้สำเร็จด้วยความลำบาก แต่ภาพในระยะกลางกลับไม่สดใส เพราะความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานอาจเปลี่ยนไป จากการหดตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้างต่างจับตามองสถานการณ์ของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เช่น หลายโครงการใน EEC ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากปัญหาทางการเงินหรือไม่ และคงต้องตั้งความหวังว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทยต่อไป

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยศักยภาพของอุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้างในการสร้างงาน น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีที่รัฐบาลไทยใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผลักดันการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่อไป โดยเน้นใน 3 ประเภทนี้ (ก) โครงการที่ช่วยสร้างงาน (ข) โครงการที่ให้ผลตอบแทนทันที เพื่อรัฐสามารถนำเงินไปฟื้นฟูสังคม และ (ค) โครงการที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

Advertisment

ความปกติใหม่ เป็นที่ชัดเจนว่า สิ่งที่โลกกำลังประสบไม่ใช่เป็นวงจรปกติ แต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน สุดท้ายมันคือ “ความปกติใหม่ (new normal)” ของโลก ในท่ามกลางหมอกควันแห่งความไม่แน่นอน ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้องเริ่มวางหมากว่า หลังวิกฤตโควิด-19 เมื่อทุกอย่างกลับเข้าภาวะปกติ สถานะองค์กรจะเป็นอย่างไร

คำถามที่สำคัญคือ “ความปกติใหม่” ที่พูดถึงนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร ผู้บริหารเหล่านี้ต้องเข้าใจว่า สิ่งต่าง ๆ จะไม่ได้เป็นไปตามครรลองของกรอบเดิมในอดีตอีกแล้ว ดังนั้น ต้องคิดนอกกรอบเพื่อค้นหาวิธีเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ ช่วงนี้คือเวลาทองที่จะนิยามผลิตภัณฑ์วิศวกรรมใหม่ เพื่อจะได้มีจุดยืนในภูมิทัศน์ใหม่ ภายใต้ความปกติใหม่นี้ ต่อไปนี้คือสิ่งที่คาดว่าจะกลายเป็นความปกติใหม่ ได้แก่

Advertisment

(1) ในช่วงวิกฤต ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการปฏิบัติงานที่บ้านและการประชุมออนไลน์ หลายบริษัทเริ่มคิดนอกกรอบได้ว่า การที่พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้จะเป็นความปกติใหม่อย่างหนึ่ง เป็นการลดค่าใช้จ่ายภายในสำนักงาน และลดการเสียเวลาในการเดินทางของพนักงานด้วย จึงอาจต้องกำหนด KPI ชุดใหม่ ที่ไม่เน้นการวัดผลงานด้วยเวลาที่ใช้ในการทำงาน แต่วัดด้วยปริมาณผลงาน หรือความก้าวหน้าของโครงการ

(2) สิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจกิ๊ก” กำลังเปลี่ยนวิธีการทำงานของนักวิชาชีพ ความจริง บริษัทที่ปรึกษาวิศวกรรมมีความคุ้นเคยกับ “เศรษฐกิจกิ๊ก” อยู่ เพราะมีการจัดจ้างที่ปรึกษาเฉพาะกิจภายนอก สิ่งนี้จะกลายเป็นความปกติใหม่ ดังนั้น บริษัทต้องพร้อมที่จะตอบสนองด้วยการสร้างรูปแบบการจ้างที่หลากหลาย สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้รับเหมา พนักงานทดลองงาน และพนักงานเฉพาะกิจ เป็นต้น

(3) ที่ผ่านมาบริษัทด้านวิศวกรรมมักให้ความสำคัญแก่ประสิทธิผลการผลิตเป็นพิเศษ แต่ในอนาคตประสิทธิภาพของเงินทุนจะเข้ามามีความสำคัญแทน บริษัทที่ใช้เงินสดหมุนเวียนอย่างชาญฉลาด มีต้นทุนคงที่น้อยกว่าและมีวงจรการแปลงเงินสดได้ในระยะเวลาสั้น ๆ จึงจะสามารถอยู่ยั่งยืน

(4) ผลิตภัณฑ์วิศวกรรมทุกอย่างจะต้องสามารถแปลงให้เป็นดิจิทัลได้ เพื่อสำเนาได้และส่งให้ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องได้ทางออนไลน์ สิ่งนี้จะสอดคล้องกับแนวคิดว่า “รับงานที่ไหนก็ได้ ผลิตงานที่ไหนก็ได้ และส่งงานที่ไหนก็ได้”

(5) นวัตกรรมทางเทคโนโลยียังมีความสำคัญในโลกแห่งความปกติใหม่ โดยเฉพาะงานด้านวิศวกรรมพันธุกรรม ซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ และพลังงานสะอาด และความต้องการใหม่ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤต คือ เทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ทำงานกับมนุษย์

โลกาภิวัตน์ หลังวิกฤตโควิด-19 ประเทศส่วนใหญ่ต้องการลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรมนุษย์ หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มนี้ รวมถึงความไม่สะดวกในการเดินทาง การขยายตัวของบริษัทวิศวกรรมไปสู่ต่างประเทศอาจมีความเป็นไปได้น้อยลง วิธีที่ดีที่สุดสู่ความเป็นสากลจะอยู่ที่การสร้างเครือข่ายพันธมิตรแห่งความร่วมมือ อย่างน้อยในระดับภูมิภาค

ปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรม ตั้งแต่รายงานการศึกษา รายการคำนวณ การเขียนแบบวิศวกรรม (ในรูปแบบของ BIM) ล้วนอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้น ขั้นตอนการผลิตจึงสามารถทำโดย “พันธมิตรกิ๊ก” ในประเทศอื่น ๆ ได้ นี่คือวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากอัตราค่าแรงที่ต่ำในบางประเทศ และใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษที่หาได้นอกประเทศเท่านั้น ความปกติใหม่ คือ บริษัทผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมชั้นนำของแต่ละประเทศ จะจับมือกันเป็นพันธมิตร (คล้าย ๆ กับ “Star Alliance” ในธุรกิจการบิน) เพื่อแบ่งปันงาน แบ่งปันความเชี่ยวชาญระดับมืออาชีพ และแบ่งปันสมรรถภาพในการผลิต ในขณะที่แต่ละบริษัทก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกันและกันในพื้นที่ด้วย

บทสรุป ผู้ประพันธ์เชื่อว่า ผลลัพธ์แห่งความท้าทายในระดับโลกนี้จะเปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ ในการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และในการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อโลก จากนี้ไป นักลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนคงจะต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อโลกเป็นใหญ่ เพราะทุกคนดูเหมือนจะตาสว่าง ที่ได้ประจักษ์เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตว่า โลกสวยงามน่าอยู่เพียงใด ในช่วงที่มนุษย์ส่วนใหญ่อยู่บ้านในเดือนสองเดือนที่ผ่านมา

ทุกวิกฤตจะสร้างคลื่นลูกใหม่ เมื่อหมดวิกฤต ลูกนกน้อย ๆ จำนวนมากพร้อมจะบินถลาออกจากรัง เพื่อออกหาเหยื่อด้วยนัยน์ตาอันแสนคม บริษัทในอุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้างจะต้องไม่ชะล่าใจ มัวชื่นชมกับความรุ่งเรืองในอดีต ผู้บริหารจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อสร้างนกตัวน้อย ๆ จากรังของท่านเอง เพื่อความอยู่รอดในอนาคต