รู้จัก-เข้าใจ ‘เจเนอเรชั่น Z’

เปิดมุมมอง
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย (ราชบัณฑิต)
ที่ปรึกษาอาวุโส ทีมกรุ๊ป

จากการได้สัมผัสกับเยาวชนนานาชาติมานานกว่า 4 ทศวรรษในฐานะอาจารย์ จนถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พบว่าในแต่ละยุคเยาวชนเหล่านี้จะมีแนวคิดและการแสดงออกที่แตกต่างกันจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่รุ่น Gen X (ซึ่งตามหลัง baby boomers) ต่อด้วยรุ่นที่เรียกว่า Gen Y หรือ millennials จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เยาวชนรุ่น Gen Z หรือ zoomers (เมื่อเทียบกับ boomers) เป็นที่น่าแปลกใจว่า เยาวชนที่เป็นชาว Gen Z ไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลกช่างมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรุ่นก่อน ๆ ที่มักสนใจแต่เรื่องใกล้ตัวเท่านั้น

จากบทความล่าสุดของ BBC เรื่อง “วัยรุ่น 5 คนที่เปลี่ยนโลก” บ่งชี้ว่า โลกกำลังมีปรากฏการณ์ใหม่ด้วยบทบาทของชาว Gen Z ที่สนใจปัญหาทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ดัง 2 กรณีตัวอย่างที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก

กรณี Greta Thunberg (เกิดปี 2546) นักเคลื่อนไหววัยรุ่นชาวสวีเดนที่ได้กลายเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ในปี 2561 ได้มีนักเรียนมากกว่า 1 ล้านคนเข้าร่วมการรณรงค์โดยการเดินออกจากห้องเรียนเพื่อประท้วงรัฐบาล ต่อมา Thunberg ได้รับการยกย่องเป็น Time Person of the Year ปี 2562 ด้วยสถิติอายุน้อยที่สุด

กรณี Malala Yousafzai เมื่ออายุเพียง 11 ขวบ ได้ตีพิมพ์บันทึกรายวันนิรนาม (anonymous diary) เกี่ยวกับชีวิตของเธอในปากีสถาน ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลิบัน ซึ่งได้รับความสนใจจากสังคมโลก และ 3 ปีต่อมาเธอถูกมือปืนลอบยิง แต่ความพยายามลอบสังหารไม่สามารถหยุดขบวนการของเธอที่จะเพิ่มโอกาสการศึกษาให้แก่สตรี จนเธอได้รับการยกย่องบนหน้าปกนิตยสาร Time และในปี 2557 Malala ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยสถิติอายุน้อยที่สุด

ย้อนกลับหันมามองประเทศไทย ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในอดีต คือ เหตุการณ์ที่นักเรียนมัธยมปลายได้ออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อสภาวะปัจจุบันของประเทศ โดยอ้างว่าถ้าไม่มีการแก้ไขในระดับโครงสร้างของสังคมแล้ว จะส่งผลลบต่ออนาคตของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ยังคิดว่า เยาวชนเหล่านี้คงถูกชักจูงโดยผู้ใหญ่ที่มีเจตนาไม่ดี หรือเกิดจากความด้อยประสบการณ์ หรือเกิดจากภาวะจิตวิตกและความต้องการเรียกร้องที่เกินเหตุ

ปรากฏการณ์นี้กระตุ้นให้ได้ติดตามข่าวและบทความวิเคราะห์ที่มีอยู่มากมายเกี่ยวกับคนรุ่นพิเศษที่เรียกว่า Gen Z นี้ ข้อน่าสังเกตคือ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่คนรุ่นเดียวกัน ณ จุดต่าง ๆ ของโลกได้เติบโตภายใต้บริบทที่เหมือนกัน ประสบการณ์ที่ได้จึงเป็นแบบพิมพ์เดียวกันในดีเอ็นเอของแต่ละบุคคล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประชากร Gen Z ล้วนเติบโตใน “โลกใบเดียวกัน” เป็นโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย พวกเขาจึงรู้สึกได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน และได้รับการเหมารวมด้วยการขนานนามต่าง ๆ ว่าเป็นชาวดิจิทัล (digital natives) นักคิดเชิงวิเคราะห์ (critical thinkers) ผู้ป่วนสถานภาพเดิม (status quo disruptors) และนักสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม (social justice warriors) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Gen Z

– ผู้ที่เกิดในรุ่นก่อน Gen Z จะเคยอยู่กับโลกที่ไร้อินเทอร์เน็ตมาก่อน แต่สำหรับชาว Gen Z เขาเกิดมาในร่มเงาของอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิตเขา

– ชาว Gen Z ไม่สามารถใช้ข้อแก้ตัวว่า ไม่รู้ไม่ทราบ เพราะเขาได้รับรู้ในเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผ่านทางโซเชียลมีเดียและข่าวบนมือถือ

– ในทศวรรษที่ผ่านมา ชาว Gen Z ได้ตื่นพร้อมกับข่าวร้ายรายวันเกี่ยวกับความอยุติธรรมในสังคม ความโหดร้ายของผู้ใช้กฎหมาย การคอร์รัปชั่น เรื่องอื้อฉาว และการใช้อำนาจในทางมิชอบ ดังนั้น ระดับความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ สื่อ และรัฐบาลจึงมีค่อนข้างต่ำ ชาว Gen Z ทั่วโลกจึงเติบโตมาเป็น “นักสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม (social justice warriors)”

– ด้วยการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศและปัญหาระดับโลกเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสตั้งแต่อายุยังน้อย ชาว Gen Z ได้พัฒนาเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ (critical thinkers) ตั้งแต่ยังเยาว์วัย

– ด้วยความไหวตัวที่รวดเร็วต่อข่าวปลอม ชาว Gen Z จะตั้งคำถามกับทุกสิ่ง และสร้างขบวนการตรวจสอบเสมอก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ

– ชาว Gen Z พร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นและเปิดกว้างรับฟัง เขาอาจขาดประสบการณ์ที่มาพร้อมกับอายุ แต่ความสามารถในการประมวลผลอย่างรวดเร็ว ทำให้ความคิดเห็นของเขาน่าสนใจและมีน้ำหนัก

– ชาว Gen Z ต้องการควบคุมชะตาชีวิตของตนเอง พวกเขาชื่นชมนิยายในชีวิตจริงเรื่อง “จากยาจกสู่เศรษฐี” โดยเฉพาะเรื่องราวของ สตีฟ จ็อบส์ และ บิล เกตส์ ดังนั้น ชาว Gen Z จึงไม่กลัวที่จะต้องไล่ล่านวัตกรรมเพื่อจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับไอดอลของเขา

– ชาว Gen Z เป็นพลเมืองโลกโดยธรรมชาติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะมีมิตรสหายอยู่ทั่วโลก

บทสรุป

คนทุกรุ่นในโลกเติบโตมาในบริบทต่าง ๆ กัน เรามีชาว baby boomers ที่มีใจรักในงาน มีชาว Gen X ที่เป็นคนช่างกังขา และชาว millennials ที่เป็นนักปฏิบัติ และตอนนี้เรากำลังจะเห็นบทบาทชาว Gen Z ที่มุ่งเน้นในสัมฤทธิผลด้วยสมรรถภาพเชิงดิจิทัลของชาว Gen Z เขามีศักยภาพที่จะสร้างคลื่นลูกใหม่มาแทนคลื่นลูกเก่า และในที่สุดอนาคตของโลกดิจิทัลคือโลกของเขา ถ้าคนรุ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะชาว baby boomers เข้าใจพวกเขาชาว Gen Z จะเติบโตเป็นผู้ขับเคลื่อนวงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต เพื่อประชากรไทยและเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล