23 จว.ชายทะเล 3 พัน กม. เข้มรักษาผลประโยชน์ “ศก.-ความมั่นคง”

แฟ้มภาพ (AFP PHOTO)

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

หลัง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 12 มี.ค. 2562 และมีผลบังคับใช้ 13 มี.ค. 2563 ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ได้ออกประกาศศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรื่อง กำหนดจังหวัดชายทะเล ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 19 ก.พ.2563 ให้จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขตทางทะเลต่อไปนี้ เป็นจังหวัดชายทะเล

1.กรุงเทพมหานคร 2.กระบี่ 3.จันทบุรี 4.ฉะเชิงเทรา 5.ชลบุรี 6.ชุมพร 7.ตรัง 8.ตราด 9.นครศรีธรรมราช 10.นราธิวาส 11.ประจวบคีรีขันธ์ 12.ปัตตานี 13.พังงา 14.เพชรบุรี 15.ภูเก็ต 16.ระนอง 17.ระยอง 18.สงขลา 19.สตูล 20.สมุทรปราการ 21.สมุทรสงคราม 22.สมุทรสาคร 23.สุราษฎร์ธานี

จากนี้ไปการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา ทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ (ข้อมูลจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ-สมช.) ในพื้นที่ทั้ง 23 จังหวัด ติดชายทะเล 2 ด้าน คือ ทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกาทางฝั่งตะวันตก และอ่าวไทยทางฝั่งตะวันตก พื้นที่เขตทางทะเลรวม 3.2 แสน ตร.กม. ความยาวชายทะเลรวม 3,010 กม. แยกเป็นฝั่งทะเลอันดามัน 1,037.5 กม. และฝั่งอ่าวไทย 3,010 กม.

ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของหน่วยปฏิบัติงานหลัก คือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบูรณาการและประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

เหตุผลหลักในการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลฯ มาจากปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทั้งภายในและนอกราชอาณาจักร ซึ่งปัญหาดังกล่าวอยู่ในเขตทางทะเลอันมีลักษณะที่หลากหลาย และประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตยที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลไว้ รวมทั้งมีสิทธิหน้าที่อื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถบังคับใช้ในเขตทางทะเลที่อยู่ภายนอกราชอาณาจักร หรืออาจไม่ครอบคลุมถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีอยู่มากมายในทุก ๆ ด้าน

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ภารกิจการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลมี 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 กรณีทั่วไป ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐตามขอบเขตของกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐนั้น ระดับที่ 2 กรณีที่ภารกิจเกินขีดความสามารถของหน่วยงานทางทะเล หรือไม่มีหน่วยงานของรัฐใดรับผิดชอบ หรือต้องมีการบูรณาการในการปฏิบัติงาน หรือมีความจำเป็นอื่น ให้ ศรชล.เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติภารกิจ และระดับที่ 3 กรณีเกิดภาวะไม่ปกติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้ ศรชล.เป็นผู้บังคับบัญชาการปฏิบัติภารกิจ

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อป้องกันการกีดกันสินค้าทางทะเลของไทย


นอกจากนี้ยังกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อความชัดเจนและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการคุ้มครองประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากทรัพยากรทางทะเลด้วย