โควิดหนุน “อีคอมเมิร์ซ” โอกาสรุ่ง-แข่งขันสูง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดทั่วโลกจากพิษโควิด-19 หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จนเติบโตก้าวกระโดดก็คือ “อีคอมเมิร์ซ”

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการ “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคา ซึ่งหมวกอีกใบหนึ่งคือ นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซประเมินว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยปีนี้น่าจะเติบโตมากสุดไม่เกิน 35% โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 220,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท หรือขยับจาก 3% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดไปอยู่ที่ราว 4-5%

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตลาดค้าปลีกออนไลน์ (B2C e-Commerce เฉพาะสินค้า) ในปี 2563 มีมูลค่าตลาดประมาณ 3.0-3.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.7% เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีกรวม แม้จะยังคงขยายตัวราว 8-10% แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัวราว 20%

โดยระบุว่า แม้ว่าส่วนหนึ่งปัจจัยทางด้านโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดค้าปลีกออนไลน์โตขึ้นจากการเข้าสู่สภาวะ new normal แต่อีกส่วนหนึ่งก็กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่คาดว่าจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และทำให้ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เพราะไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต

ฉะนั้น สินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นกลุ่ม nonfood จึงเป็นสินค้าที่คาดว่าผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายลง และน่าจะได้รับผลกระทบที่มากกว่าสินค้ากลุ่มอาหาร (food) และสินค้าอุปโภคบริโภคหรือของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน (fast-moving consumer goods : FMCG)

ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ อีมาร์เก็ตเพลซ ต่างชาติ ที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มสินค้า nonfood กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสินค้าเฉพาะ (specialty store) ที่มี website หรือ brand ของตนเอง เช่น ร้านค้าปลีกเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที ของใช้จำเป็นภายในบ้าน ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้เร็ว ทั้งยังสามารถดูแลลูกค้าและสร้างบริการหลังการขายได้ดีกว่า เชื่อมโยงสิทธิพิเศษผ่านช่องทาง online to offline : O2O ทำให้ลูกค้ารู้สึกสะดวกสบายและมั่นใจมากขึ้น

ในบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่น่าสนใจคือ หลังเกิดโควิด-19 สินค้ากลุ่มอาหารและอุปโภคบริโภคจะขึ้นมามีบทบาทในตลาดค้าปลีกออนไลน์มากขึ้น และนี่เป็นตลาดที่อีมาร์เก็ตเพลซต่างชาติ ไม่สามารถขยายผลิตภัณฑ์มาครอบคลุมได้แตกต่างจากกลุ่ม modern trade รายใหญ่ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทชัดขึ้นในช่วงโควิด-19

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าภายหลังจากการเกิดวิกฤตโควิด-19 บทบาทของอีมาร์เก็ตเพลซต่างชาติในตลาดรวมของอีคอมเมิร์ซ น่าจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยการแข่งขันรุนแรง ทั้งยังทำให้ต้องอัดโปรโมชั่นกระตุ้นกำลังซื้อ จึงน่าจะยังขาดทุนต่อเนื่อง 30-40% ต่อปีเมื่อเทียบกับรายได้ในปี 2563-2565 และถือเป็นการขาดทุนมาโดยตลอดเฉลี่ย 46% ต่อปีเมื่อเทียบกับรายได้

ข้อสังเกตนี้จึงทำให้ต้องจับตามองว่า “สายป่าน” ของอีมาร์เก็ตเพลซแต่ละรายจะยาวแค่ไหนในภาวะที่ “ขาย 1 บาท ขาดทุน 46 สตางค์” หรือจะถึงเวลาที่ “หมดยุคของถูก” เหมือนในธุรกิจสายการบินก็คงต้องรอดูกันต่อไป

ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายผ่านทางโซเชียลคอมเมิร์ซนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า นี่เป็นโอกาสทำรายได้เพิ่ม “ในระยะสั้น” แต่ในระยะกลางถึงยาวผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้น่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นจากคู่แข่งที่มีจำนวนมากราย บวกกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีจำกัด

ฉะนั้น หากสินค้าและบริการไม่แตกต่างหรือปรับตัวไม่ทันตามความต้องการของผู้บริโภค ก็จะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงและยากลำบาก จนอาจต้องออกจากธุรกิจนี้ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้สามารถตอบโจทย์หรือสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้

ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “บริการที่ตรงใจตอบโจทย์” คืออาวุธที่สำคัญที่สุดไม่ว่ายุคใดก็ตาม