โควิดทดสอบ เวียดนาม ประธานอาเซียน 2563

คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย ประดาป พิบูล ทีมกรุ๊ป

อาเซียนปีนี้ดูจะเงียบเหงา ผ่านไปหนึ่งไตรมาสแรกแต่ดูเสมือนว่าการเมืองและโรคระบาดโควิด-19 จะบดบังความพยายามและการเตรียมแผนงานอย่างทุ่มเท แข็งขันและสร้างสรรค์ของเวียดนามประธานอาเซียน ซึ่งนำองค์กรด้วยคำขวัญ “อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวและพร้อมปรับตัว”

เวียดนามมีความพร้อมและประสบการณ์ที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้ก้าวลึกยิ่งขึ้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และดังที่คาด เวียดนามได้ริเริ่ม 13 โครงการหลักด้านเศรษฐกิจ (พีอีดี) เสนอต่อที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศที่นาตรัง เมื่อเดือนมกราคม 2563

ที่ผ่านมา เพื่อเป็นผลงานชิ้นโบแดงของประธานภายใต้การนำของเวียดนาม อาเซียนจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 3 มิติ เพื่อบรรลุผลด้านเศรษฐกิจ (พีอีดี) ในการเสริมสร้างประชาคมให้แข็งแกร่งและยั่งยืน (แหล่งที่มา : สน.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีนาคม 2563)

โดยมิติแรกส่งเสริมการบูรณาการและความเชื่อมโยงภายในอาเซียนด้วยมาตรการ 7 ประการ ได้แก่

– การทำดัชนีการบูรณาการดิจิทัลอาเซียน เพื่อติดตามความคืบหน้าของการรวมตัวด้านดิจิทัล

– จัดทำแผนงานพัฒนาพลังงานสะอาด อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

– สร้างระบบสารสนเทศทางสถิติของอาเซียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยปีนี้ทำรายงานพื้นฐานและฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อใช้วิเคราะห์และเผยแพร่

– จัดทำแผนงานและแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ

– ส่งเสริมการเชื่อมโยงของระบบชำระเงินในภูมิภาคโดยจัดทำกรอบนโยบายการชำระเงินสำหรับการค้ารายย่อยข้ามแดน

– จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศ 5G

– จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาการลดค่าธรรมเนียมบริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศให้เป็นอัตราเดียวกันในอาเซียน

มิติที่สองของยุทธศาสตร์พีอีดี เน้นการผูกพันกับประชาคมโลกให้มากขึ้น เพื่อความสงบสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค ทุกสายตาคาดหวังว่าในปีนี้ เวียดนามจะสามารถผลักดันให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP การบรรลุตามเป้าหมายของทั้งสองมิติจะช่วยกระชับการรวมตัวและเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ การเงิน และดิจิทัล นำไปสู่อาเซียนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น ตลาดจะขยายใหญ่รวมประชากรกว่าสองพันล้านคน มีมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สร้างความเชื่อมั่นและเริ่มยกองค์กรให้เป็นระดับโลก ความสำเร็จของยุทธศาสตร์พีอีดี อยู่ที่สมาชิกอาเซียนจะต้องพร้อมที่จะปรับตัวและมีกฎระเบียบข้อบังคับที่เหมาะสม ตามแนวทางมิติที่สาม และมาตรการ 5 ประการ คือ

– ส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568

– จัดทำแผนงานว่าด้วยการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม

– จัดทำแผนงานส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน

– เชื่อมโยงศูนย์นวัตกรรมต่าง ๆ ในอาเซียน

– จัดทำกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน 2564-2568

หลังจากที่เวียดนามรับหน้าที่ต่อจากไทยได้เพียงสามสัปดาห์ ประธานอาเซียนก็ต้องเผชิญวิกฤตการณ์อย่างไม่คาดคิดจากโรคระบาดไวรัสโคโรน่า อย่างไรก็ดี เวียดนามปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ทันทีที่จีนปิดเมืองอู่ฮั่น ช่วงตรุษปีใหม่ปลายเดือนมกราคม 2563 รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนทุกแห่ง เลื่อนปีการศึกษา ตรวจหาเชื้ออย่างเข้มงวด ยึดนโยบายกักกันตนเอง ห้ามชาวต่างชาติจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศ จัดตั้งศูนย์ป้องกันควบคุมระดับชาติและมอบให้กระทรวงกลาโหมจัดเตรียมพื้นที่กักกันขนส่งผู้ที่เดินทางมาจากเขตภายในประเทศที่เสี่ยง และประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนช่วยกันป้องกันไม่ให้มีการระบาด มาตรการเหล่านี้ทำให้เวียดนามมีผู้ติดเชื้อเพียง 61 คน กระจายไปตาม 13 เมือง จาก 63 จังหวัด (Thayer Consultancy Report, 17 มีนาคม 2563)

เวียดนามน่าจะผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้ โดยเศรษฐกิจและสังคมยังมีเสถียรภาพ เป็นผู้นำของอาเซียนได้อย่างเข้มแข็ง และยังสามารถแสดงบทบาทที่แข็งขันในสถานะสมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย

ในการต่อต้านโรคระบาด เวียดนามได้จัดให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนระดมสมองและหารือกับจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประสานให้กิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียนเดินหน้าต่อไปได้โดยใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานและการรวมตัวกันทางดิจิทัล

เมื่อวันที่ 9 เมษายนเป็นครั้งแรกที่เวียดนามจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศด้วยทางวิดีโอและวันที่ 14 เดือนเดียวกันจัดประชุม Special ASEAN Summit on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)

ช่วงหลังของปี 2563 เป็นที่คาดหวังว่าหมอกเมฆจะสลายเจือจางและยุทธศาสตร์พีอีดีจะเริ่มเบ่งบาน แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงฝีมือเวียดนามประธานอาเซียน