“ปฏิรูป” อุตสาหกรรมเกษตร ยกระดับการผลิตสู่สากล

ภาวะการณ์เกษตรกรไทย
เกษตรกรไทย
คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำทีมคณะผู้บริหารสภาอุตสหากรรมฯ เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือและยื่นหนังสือ “ข้อเสนอการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากภัย COVID-19” ณ ทำเนียบรัฐบาล

โดยหนึ่งในข้อเสนอด้านมาตรการฟื้นฟู คือ “การปฏิรูปอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อยกระดับสู่สากล” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกรไทย ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

การที่จะพาอุตสาหกรรมเกษตรไทยไปสู่จุดนั้นได้ เป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายซะทีเดียว ทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยกลายเป็นผู้นำด้านการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ทำอย่างไรเกษตรกรไทยจะเป็นผู้มีองค์ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานระดับโลก

สภาอุตสาหกรรมฯโดยสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ได้ทำการศึกษาในกรณีดังกล่าวเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไทยสู่ระดับสากลที่ตั้งไว้ โดยขอแบ่งออกเป็น 2 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

1.การยกระดับ “เกษตรปลอดภัย เป็นวาระแห่งชาติ” ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีผลักดัน “เกษตรปลอดภัย เป็นวาระแห่งชาติ” ตามนโยบายเกษตร 4.0 ขับเคลื่อนผลผลิตเกษตร เกษตรแปรรูป เกษตรปลอดสาร สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยด้วย 6 เครื่องมือ ได้แก่

1.1 การนำ Agri-Tech เทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้

1.2 ผลักดันเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) ให้เป็นผู้นำการนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

1.3 นำแนวทางเกษตรแม่นยำมาใช้เพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูกต่อไร่ และเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร

1.4 การให้การรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อยกระดับสินค้าเกษตร ให้เป็นสินค้าคุณภาพ

1.5 นำเอาการตลาดนำการผลิต โดยมีการดำเนินการทางการตลาด online offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเชื่อมโยงผลผลิตสู่อุตสาหกรรมการแปรรูป

1.6 พัฒนา logistic การขนส่งสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ลดความเสียหาย รวดเร็วถึงมือผู้บริโภค

ผลักดันเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) 1 ในเครื่องมือสู่เกษตรปลอดภัย เสนอโครงการนำร่องของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการขับเคลื่อน “เกษตรแม่นยำ สู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่” การดำเนินโครงการของ ส.อ.ท. กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร อาทิ อ้อย จำนวน 903,000 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 450,000 ไร่ มะเขือเทศ 5,000 ไร่ ข้าวโพดหวาน 180,000 ไร่ ยางพารา 885,000 ไร่ และพืชพลังงาน เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยไม่น้อยกว่า 60,000 ราย

โดยจัดตั้งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมด้านการเกษตร (social enterprise) เพื่อการบริการให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิตสามารถนำ Agri-Tech ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ทั้งการจัดการ big data, การใช้ internet of thing (IOT) และ artificial intelligence (AI) มีการวิเคราะห์วางแผนการผลิต (crop planning) ด้วยข้อมูลเชิงลึก (DeepTech data) การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการฉีดพ่นฮอร์โมนพืชด้วยโดรนอย่างแม่นยำ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และลดการสัมผัสสารสร้างสุขภาพปลอดภัยให้เกษตรกร โครงการนี้จะช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร 1,500 บาท/ไร่ คิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท

2.ส่งเสริม “การปลูกไม้มีค่า เพิ่มป่าชุมชน” ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมฯได้ผลักดันนโยบาย “การปลูกไม้มีค่า เพิ่มป่าชุมชน” โดยขับเคลื่อนผ่านสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council : TFCC) หนึ่งเดียวในประเทศไทย มีหน้าที่กำกับดูแลการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยด้วยมาตรฐานชาติ ได้แก่ มาตรฐานการจัดสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (มอก. 14061) และมาตรฐานห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (มอก. 2861) โดย TFCC ได้นำมาตรฐานดังกล่าวเข้าเทียบเคียงกับมาตรฐานสากล และได้รับการยอมรับว่า มาตรฐานชาติมีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากลเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน 2562

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการรับรองมาตรฐานไม้ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไม้ไทยสู่สากล สภาอุตสาหกรรมฯจึงเสนอให้ผลักดันหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการปลูกไม้มีค่า และให้มีการปลูกป่าในชุมชน โดยให้ภาครัฐผลักดันต้นกล้าคุณภาพดี มีปริมาณเพียงพอ แจกจ่ายให้ภาคเอกชน ภาคสังคม และประชาชน นำไปปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เพิ่มพื้นที่ป่าให้ครอบคลุมร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติ และเดินหน้าความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยการจัดการที่ยั่งยืน อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจจากป่าชุมชน ทบทวนข้อตกลงร่วมลงนามในปฏิญญา Bonn Challenge กับสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature : IUCN)

และผลักดันให้รับรองการจัดการสวนป่า (forest management) ด้วยมาตรฐานชาติ มอก. 14061 และให้การยางแห่งประเทศไทยจัดสรรงบประมาณดำเนินการสำรวจและจัดการสวนยางด้วยมาตรฐานชาติ มอก. 14061 จำนวน 13 ล้านไร่ ให้แล้วเสร็จใน 5 ปี โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสามารถยกระดับสวนยางที่ได้รับการรับรองด้วยมาตรฐานชาติเทียบเท่า