“ภูเก็ตโมเดล” เหยื่อสถานการณ์โควิด

บทบรรณาธิการ

ความกังวลเรื่องสุขภาพอนามัย และการป้องกันความเสี่ยงจากโควิด-19 กับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญยังหาความพอดีไม่ได้ คำเปรียบเปรย “ปลอดโควิดแต่อาจอดตาย” กับ “เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ แต่เสี่ยงโควิด” ยังถกเถียงไร้ข้อสรุปว่าควรเลือกทางไหน

ไม่ใช่แค่ประชาชน ภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้นที่ความเห็นแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย แม้แต่หน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองยังไปคนละทิศละทาง อย่างกระทรวงสาธารณสุขกับบุคลากรทางการแพทย์ให้น้ำหนักเรื่องการควบคุมป้องกันโรค ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต้องการให้ปลดล็อก เปิดให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคท่องเที่ยวทั้งซัพพลายเชน

แม้แต่หน่วยงานระดับนโยบาย อย่างศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ก็ยังมีหลายประเด็นที่เห็นต่าง มองต่าง แถมยังขาดการบูรณาการทำงาน ส่งผลให้มาตรการ แนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัย กับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สิ่งที่ตามมาคือความไม่ชัดเจน ลักลั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่วิกฤตซ้อนวิกฤต ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ สาธารณชนวิตกกังวลทั้งด้านเศรษฐกิจ และโควิด-19 เมื่อข้อมูลข่าวสารที่ออกมาจาก ศบค. กับ ศบศ. หลายเรื่องไม่สอดคล้องกัน ยิ่งก่อให้เกิดความสับสนไม่เชื่อมั่น

“ภูเก็ตโมเดล” โครงการนำร่องเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย เป็นกรณีตัวอย่าง ชี้ให้เห็นถึงความไม่มีเอกภาพในการทำงาน และการบริหารจัดการของ ศบค. ศบศ. รวมทั้งกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ประชาชน ธุรกิจเอกชนในจังหวัดภูเก็ต มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. สั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนเร่งรัดการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐ กลั่นกรอง เสนอแนะ และบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะช่วยให้งานสำคัญ ๆ เดินหน้าได้โดยไม่สะดุด

แต่ที่ต้องทำควบคู่คือการสร้างสมดุลระหว่างมาตรการป้องกันโควิด กับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจประเทศ แม้รูปแบบวิธีการ แนวปฏิบัติ อาจต้องดำเนินการสวนทางแบบตรงกันข้าม แต่ถ้าทุกฝ่ายผนึกกำลังทำงาน ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เป้าหมายปลายทางข้างหน้าไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง