การกลับมาของโควิด-19

ภูเก็ตเปิดรับนักท่องเที่ยว
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การระบาดของไวรัส COVID-19 ในโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่กลับแพร่กระจายเป็นวงกว้างแทบจะทั่วทุกมุมโลก พื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งแพร่ระบาดลำดับแรก ๆ ก็กลับเกิดการแพร่ระบาดขึ้นมาใหม่ เป็นระลอก 2 หรือระลอก 3 ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโลก โดยตัวเลขการระบาดล่าสุด ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2563 อยู่ที่ 38,040,063 คน ตาย 1,085,372 คน ในจำนวนนี้ สหรัฐอเมริกายังครองอันดับ 1 มีคนติดเชื้อ 8,037,789 คน ตาย 220,011 คน รองลงมาก็คือ อินเดีย 7,173,565 คน ตาย 109,894 คน

ดูเหมือนว่า อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีอัตราเร่งในการติดเชื้อมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 1,383,826,697 คน กับระบบสาธารณสุขที่ยังกระจายไปไม่ทั่วถึง ทำให้เชื่อกันว่าอีกไม่นาน ตัวเลขคนติดเชื้อ COVID-19 ของอินเดียจะพุ่งแซงหน้าสหรัฐขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลกในที่สุด

การแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้ของอินเดีย-บังกลาเทศ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศเมียนมา ผ่านทางรัฐยะไข่ที่ติดกับบังกลาเทศ ในขณะที่รัฐบาลเมียนมามีการตอบสนองในการป้องกันการระบาดน้อยมาก ทำให้ไวรัส COVID-19 ระบาดจากภาคตะวันตกเข้าสู่ภาคตะวันออกของเมียนมา มีรายงานการระบาดในรัฐกะยา-กะเหรี่ยง-มอญ-ตะนาวศรี ประชิดติดชายแดนประเทศไทยตั้งแต่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปจนกระทั่งถึง จ.ระนอง

ตัวเลขการระบาดล่าสุดของเมียนมา ณ วันที่ 13 ตุลาคม อยู่ที่ 29,314 คน ตาย 664 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 54 ล้านคน แต่เพิ่งมีการตรวจเชื้อไปแค่ 428,668 คน

หันมาดูสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยกันบ้าง พบว่าจนกระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่มีการระบาดระลอก 2 ตัวเลขคนติดเชื้อสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,643 คน เกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักที่ state quarantine ที่รัฐจัดให้ โดยตรวจพบการติดเชื้อภายในระยะเวลาที่ต้องกักตัว 14 วัน เรียกได้ว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ดีเยี่ยม

ทว่าสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง จากโครงสร้างรายได้หลักที่ต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว ทางเดียวก็คือ ประเทศไทยจะเปิดประเทศท่ามกลางสถานการณ์ระบาดอย่างหนักในโลกนี้ได้อย่างไร

โดยหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลกำลังผลักดันกันอยู่ในตอนนี้ก็คือ การเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (special tourist visa หรือ STV) สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพักระยะยาว (long stay) ประมาณ 9 เดือน

มีหลักการสำคัญอยู่ที่ เมื่อเข้ามาแล้วต้องกักตัวในสถานที่ที่เรียกว่า alternative state quarantine หรือ ASQ จำนวน 11 แห่งใน 5 จังหวัด (ชลบุรี-บุรีรัมย์-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี) เป็นระยะเวลา 14 วัน พร้อมเงื่อนไขต่าง ๆ

นับเป็นโครงการนำร่องเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวโครงการแรก ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,200 ล้านบาท แลกกับ “ความเสี่ยง” ที่อาจจะเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ขึ้นในประเทศได้ หลังจากมีความพยายามจากหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองที่จะลดเงื่อนไขและจำนวนวันที่จะต้องกักตัวลง อาทิ เหลือเพียง 7 วัน โดยมุ่งไปที่ “เป้า” จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะให้เข้ามาภายในประเทศเพิ่มขึ้น

แน่นอนว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จำนวนมาก “ไม่เห็นด้วย” กับโครงการนำร่องโครงการนี้ เมื่อเห็นท่าทีของรัฐบาลไปในลักษณะที่ว่า อาจ “ยอม” ให้มีการติดเชื้อ COVID-19 แบบที่เชื่อกันว่ามีความสามารถที่จะควบคุมได้เป็นจุด ๆ ของประเทศ แลกกับการฟื้นเศรษฐกิจ

ความกังวลนี้สมควรที่จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจากเหตุผลที่ว่า ด้านหนึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญการระบาดตลอดแนวชายแดนด้านที่ติดกับเมียนมาอีกด้านหนึ่งก็กำลังเปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาโดยตรง กลายเป็น 2 ปัจจัยหลักในวันที่โลกยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน COVID โดยตรง