‘เมียนมา’ เสี่ยงสู่ภาวะรัฐล้มเหลว ไทย-อาเซียน…กับภารกิจที่ท้าทาย

เมียนมาเสี่ยงเป็นรัฐล้มเหลว
this picture from social media obtained by REUTERS.
ดุลยธรรม
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

สถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาขณะนี้ได้เข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลวแล้ว และเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอย่างแน่นอน ประเทศไทยจึงควรเตรียมรับมือคลื่นผู้อพยพจำนวนมากตามแนวชายแดน โดยฝ่ายความมั่นคงไม่ควรผลักดันผู้อพยพหนีภัยสงคราม และถูกคุกคามต่อชีวิตจากเผด็จการทหารพม่ากลับไปยังภูมิลำเนาที่มีความเสี่ยงภัยต่อชีวิต และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การกระทำดังกล่าวจะทำให้ความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ “ประเทศ” เสียหายในเวทีประชาคมระหว่างประเทศ และยังแสดงถึงความไม่มีมนุษยธรรม

กองทัพไทยและผู้นำรัฐบาลไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้นำคณะรัฐประหารในเมียนมา ควรใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีนั้นในทางสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสันติภาพผ่านการเจรจาหารือฟื้นฟูประชาธิปไตยเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงนองเลือด การเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

การมีบทบาทเชิงรุกและการบริหารความสัมพันธ์ในทางที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าตามแนวชายแดน รวมทั้งสามารถหยุดยั้งการพังทลายของเศรษฐกิจเมียนมาที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มทุนไทยจำนวนไม่น้อย

เนื่องจากไทยและเมียนมามีมูลค่าการค้าต่อกันประมาณ 6.6-7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าโครงการลงทุนต่าง ๆ ในพม่าเป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ได้แก่ กลุ่ม ซี.พี. กรุ๊ป เครือปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะ ปตท.สผ. กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ กลุ่มค้าปลีกและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มโอสถสภามีสัดส่วนรายได้จากตลาดพม่าประมาณ 10%

นอกจากนี้ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก็มีสัดส่วนรายได้จากพม่าประมาณ 8% รวมทั้งกลุ่มธุรกิจก่อสร้างและนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าดำเนินธุรกิจในเมียนมาเช่นเดียวกัน

ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงรุนแรงในเมียนมา พร้อมกับการขาดแคลนสินค้าจำเป็นบางประเภท อาจทำให้มีความต้องการสินค้าจากฝั่งไทยมากขึ้น แต่การค้าและการส่งมอบสินค้าจะกระทำด้วยความยากลำบาก หน่วยงานทางด้านความมั่นคงจึงต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้การค้าและการส่งมอบสินค้าจำเป็นสามารถดำเนินต่อไปได้ใกล้เคียงภาวะปกติ

ผลกระทบที่ตามมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา จะทำให้เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวติดลบรุนแรงในปีนี้ เนื่องจากระบบและกลไกทางเศรษฐกิจไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ประสบการณ์ขาดแคลนเงินตรา เศรษฐกิจโดยภาพรวมอาจถอยหลังไปไม่ต่ำกว่า 20-30 ปีเป็นอย่างน้อย หากไม่รีบแก้ไขและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยการคืนอำนาจให้กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะผู้ชนะการเลือกตั้ง จะมีการถอนการลงทุนออกจากเมียนมาครั้งใหญ่

โดยเฉพาะกลุ่มทุนตะวันตก สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าและสินค้าส่งออกของไทยไปเมียนมา ส่วนโครงการลงทุนของกลุ่มทุนไทยที่ลงทุนในเมียนมาคงจะชะลอตัวหรือหยุดลง และบางส่วนอาจถอนการลงทุนออก ที่น่าห่วงคือ หากไม่มีการเจรจาเพื่อยุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงนองเลือด เมียนมาจะอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลว และสงครามกลางเมืองไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปี

ขณะนี้มีรายงานข่าวว่า ชาวบ้านในเมียนมาได้ประดิษฐ์อาวุธขึ้นเองเพื่อสู้กับเผด็จการเมียนมาแล้ว สถานการณ์นี้จะลุกลามสู่สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ หากมหาอำนาจนอกภูมิภาคเข้าแทรกแซง บทบาทองค์กรในภูมิภาค และกองทัพไทยจึงมีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาค และการแก้ปัญหาความรุนแรงนองเลือดในเมียนมา

เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประชาคมอาเซียน และองค์การสหประชาชาติ ควรร่วมมือกันในการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคทั้งในระดับองค์กรของรัฐ ระดับองค์กรธุรกิจ ระดับองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และระดับประชาชน เพื่อก่อให้เกิดการส่งเสริมพัฒนาและปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสันติภาพถาวรในภูมิภาคด้วยพลังของเครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาค