สูตรคิด “ดอกเบี้ยผิดนัด” ปม.แพ่งและพาณิชย์ฉบับใหม่

เงินบาท
คอลัมน์นอกรอบ

สำนักกฎหมาย กรมที่ดิน

โดยที่อัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน โดยมิได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ

ทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยเกินสมควร สมควรปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและกำหนดวิธีการในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ พร้อมทั้งกำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้เหมาะสม

ประกอบกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างกว้างขวาง ทำใหประชาชนจำนวนมากมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงเป็นภาระอย่างมากต่อลูกหนี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจ ขนากลางและขนาดย่อม

รวมทั้งประชาชนทั่วไปและก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สมควรที่รัฐจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าวโดยเร่งด่วน จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564

มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่ม 138 ตอนที่ 26 ก วันที่ 10 เมษายน 2564 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564)

สาระสำคัญของพระราชกำหนด

1.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งโดยปรับจากอัตราเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ทั้งนี้ อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และกำหนดให้กระทรวงการคลังทบทวนความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยทุก 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ (มาตรา 3 แก้ไขมาตรา 7)

2.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยปรับจากอัตราเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 แห่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี) ทั้งนี้ หากอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 มีการปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามมาตราดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงโดยสอดคล้องกัน (มาตรา 4 แก้ไขมาตรา 224)

3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด ให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น (มาตรา 5 เพิ่มมาตรา 224/1)

4.กำหนดบทเฉพาะกาลในบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ (ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป) แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่จะมีผลให้ข้อตกลงที่กำหนดให้เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ค้างชำระทั้งหมดตกเป็นโมฆะทันทีที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ (มาตรา 6-8)