จับตาตลาด “คาร์บอนเครดิต” มูลค่ามหาศาลหลัง COP26

คาร์บอนเครดิต
ชีพจรเศรษฐกิจ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

“คาร์บอนเครดิต” เป็นคำที่รู้จักกันมาตั้งแต่มีความตกลงว่าด้วยการรับมือกับภาวะโลกร้อนระดับนานาชาติครั้งแรก ที่รู้จักกันในชื่อ “พิธีสารโตเกียว”

จุดมุ่งหมายในการสร้าง “คาร์บอนเครดิต” ขึ้น ก็เพื่อให้สามารถซื้อขายกันได้

การซื้อและการขายเครดิต ที่ได้จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคร้อน ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายามเพื่อลดการปล่อยก๊าซอันตรายนี้มากขึ้น

ชาติหรือองค์กรธุรกิจที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย สามารถหาซื้อเครดิตที่ว่านี้เพิ่มเติมจาก “ตลาดคาร์บอนเครดิต” ที่เป็นตลาดซึ่งผู้ขายสามารถนำเอาเครดิตส่วนเกินไป “เสนอขาย” ได้

คำถามก็คือ แล้วจะซื้อจะขายกันอย่างไร ควรมีการ “เก็บภาษี” จากการซื้อขายเหล่านี้หรือไม่ แล้วจะนับเครดิตกันอย่างไร

กลไกและกฎเกณฑ์ที่จะทำหน้าที่กำกับตลาดคาร์บอนเครดิตนี่เองที่ทำให้จนแล้วจนรอด ตลาดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศยังไม่เกิดขึ้นจริงจังเป็นรูปธรรมเสียที

ในการประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2015 ซึ่งลงเอยด้วยการจัดทำ “ความตกลงปารีส” ขึ้นมา ทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอีกระดับหนึ่ง แต่ชาติสมาชิกก็ยังโต้แย้งกันในประเด็นสำคัญหลายประการ

ต้องใช้เวลาต่อรองกันอีกนานปี ทุกอย่างถึงลงเอยกันได้ในระหว่างการประชุมครั้งที่ 26 ที่กลาสโกว์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถกเถียงโต้แย้งกันมานานก็คือ ประเด็นว่าด้วย “ภาษี” ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย อีกฝ่ายหนึ่งคัดค้าน

เดิมทีความตกลงปารีส กำหนดให้เก็บภาษีจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทุกครั้ง เพื่อนำเงินที่ได้จากการนี้เข้าไปสมทบใน “กองทุนเพื่อการปรับตัว” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาต่อไป

ที่ประชุมกลาสโกว์ ตกลงพบกันครึ่งทาง

ในความตกลงกลาสโกว์ กำหนดให้การซื้อขายที่ทำกันแบบ “ทวิภาคี” ซึ่งเป็นการซื้อขายกันโดยตรง ไม่จำเป็นต้องชำระภาษี

แต่หากเป็นการซื้อขายกันผ่านตลาดคาร์บอนเครดิตที่ถือเป็น “ตลาดกลาง” เพื่อการนี้ จะต้องชำระภาษี 5% นำไปสมทบในกองทุนดังกล่าวแล้ว

ความตกลงกลาสโกว์ยังแก้ข้อกังวลที่ว่า การชดเชยเป้าลดคาร์บอนด้วยเครดิตจากตลาดคาร์บอนเครดิต จะทำให้ชาติมั่งคั่งทั้งหลายไม่ยอมดำเนินการลดให้ได้ตามเป้า แต่จะหันมาชดเชยด้วยการซื้อแทน โดยการกำหนดให้ “ยกเลิก” เครดิตที่ซื้อชดเชย 2% ที่ได้จากการซื้อขาย

ปัญหาถัดมาก็คือจะนำเอา คาร์บอนเครดิต ที่แต่เดิมเคยทำไว้นานมาแล้วมาเสนอขายในตลาดได้หรือไม่ ด้วยความที่คาร์บอนเครดิตนั้นพูดถึงกันมานานแล้ว และมีเครดิตเก่า ๆ เกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย

ความตกลงกลาสโกว์ เถียงเรื่องนี้กันไม่น้อย ในที่สุดก็ยอมตกลงให้นำเอาเครดิตเก่า ๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมาเท่านั้น สามารถนำไปเสนอขายในตลาดได้

ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีบรรดานักเคลื่อนไหวต่อต้านภาวะโลกร้อนอีกไม่น้อย กังวลว่า การอนุญาตเช่นนี้จะทำให้ ตลาดคาร์บอนเครดิต กลายเป็นตลาดขายเครดิตเก่ากันไปล้วน ๆ

มีการประเมินไว้ว่า นับตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมา มีเครดิตขึ้นทะเบียนและสามารถนำมาเสนอขายได้มากถึง 320 ล้านเครดิต

1 เครดิตที่ว่า คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเทียบเท่ากับปริมาณ 1 ตัน 320 ล้านเครดิตก็คือ 320 ล้านตัน

คำถามก็คือ 320 ล้านตันที่ว่านี้เป็นการลดเมื่อนานมาแล้ว ไม่น่าจะมีประโยชน์ใด ๆ กับการลดภาวะโลกร้อนในตอนนี้อีกแล้ว บรรดาแอ็กติวิสต์ถึงได้ออกมาเรียกร้องบรรดาผู้ที่จะซื้อว่า อย่าไปซื้อเครดิตเดิม ๆ เหล่านี้

ปัญหาสุดท้ายที่เพิ่งจะตกลงกันได้ที่กลาสโกว์ ก็คือ “วิธีการป้องกันการนับคาร์บอนเครดิตซ้ำ” หลังจากที่เดิม ประเทศผู้ขายกับประเทศผู้ซื้อต่างอ้างสิทธิ์กันว่า สามารถนับเครดิตที่ซื้อขายกันรวมเป็นเป้าหมายของประเทศได้

แต่วิธีการดังกล่าวทำให้เกิด “การนับซ้ำ” ทำให้ปริมาณรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกินจริง

“ญี่ปุ่น” เป็นผู้เสนอทางออกในเรื่องนี้ ด้วยการเสนอให้ ประเทศผู้สร้างเครดิต ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการนำเอาเครดิตนั้นไปขาย หรือจะนำเอาไปนับรวมเข้าไว้เป็น “เป้าหมาย” การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ในกรณีที่รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ กำหนดให้นำไปขาย แล้วสามารถขายได้ ประเทศผู้ขายต้องหักลบจำนวนเครดิตที่ขายออกไปจากเป้าหมายของประเทศ และประเทศผู้ซื้อสามารถนำไปรวมเป็นเป้าหมายของประเทศตนได้

หลักการป้องกันการนับซ้ำเดียวกันนี้ จะนำไปประยุกต์ใช้ในแวดวงอุตสาหกรรม อย่างเช่น อุตสาหกรรมการบิน เช่นเดียวกัน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความตกลงกลาสโกว์ว่าด้วยตลาดคาร์บอนเครดิต ดีขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ “สมบูรณ์แบบ” เพราะยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการนับซ้ำเกิดขึ้นอีก

แต่ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ผลจากค็อป26 ครั้งนี้จะช่วยปลดล็อกให้ตลาดคาร์บอนเครดิต ที่ว่ากันว่า มีมูลค่าระดับหลายล้านล้านดอลลาร์ เกิดเป็นจริงได้เสียที