บทบรรณาธิการ : ผลกระทบขึ้นดอกเบี้ย

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

นำร่องไปก่อนแล้วบรรดา “ลีสซิ่ง” ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ที่ขยับเตรียมเพิ่มดอกเบี้ยเช่าซื้อ 0.1-0.2% ในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณขยับดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมนัดหน้าเดือน ส.ค. โดยผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าภายในปีนี้ น่าจะปรับ 0.25% รวม 2 ครั้ง ส่งให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 1%

แม้ตัวเลข 0.1-0.2% ดูเหมือนไม่มากนักและกระทบเฉพาะผู้ซื้อรถใหม่ เนื่องจากผู้ที่กำลังผ่อนอยู่ในขณะนี้ไม่มีผล เพราะคิดดอกเบี้ยคงที่ (flat rate) ตามข้อตกลงในวันแรกที่ลงชื่อเช่าซื้อคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ ก็ผ่อนในอัตรานั้นจนสิ้นสุดสัญญา

แต่ที่น่ากังวลคือการขยับดอกเบี้ยถือเป็นระลอกแรกเท่านั้น เพราะหาก ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย ลีสซิ่งต้องเพิ่มตาม รถใหม่ที่จะออกมาต่อจากนี้จะผ่อนแพงขึ้น

เช่นเดียวกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะการผ่อนบ้านส่วนใหญ่จะคิดดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก จากนั้นปล่อยลอยตัว ขณะนี้พบว่าธนาคารหลายแห่งเริ่มย่นระยะเวลาผ่อนแบบคงที่ให้น้อยลง เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเองที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงินด้วย

ซึ่งตัวเลขล่าสุดพบว่าปริมาณการปล่อยสินเชื่อและเงินฝากของสถาบันการเงิน มีส่วนต่างล้นธนาคารถึง 1 ล้านล้านบาท

เบื้องต้น นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หนึ่งในสถาบันการเงินใหญ่ของรัฐ ประเมินว่า ธปท.น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 รอบ รอบละ 0.25% แต่ ธอส.จะขยับขึ้นให้ช้าและน้อยกว่าที่ประกาศเพื่อช่วยเหลือผู้ผ่อนบ้าน โดยอาจปรับขึ้นรอบละ 0.15% และทิ้งช่วงอย่างน้อย 2-3 เดือน

หลัง ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว น่าจะพอบรรเทาปัญหาให้ลูกค้าได้ส่วนหนึ่ง หรืออาจใช้วิธียืดระยะการผ่อนออกไปเพื่อให้ชำระเท่าเดิม

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงแรกอาจมีแคมเปญช่วยเหลือให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น เนื่องจากสต๊อกยังเหลืออยู่พอสมควร แต่คาดว่าภายในสิ้นปีนี้สต๊อกบ้าน-คอนโดฯ น่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล จากนั้นใช้แผนการตลาดกระตุ้นกันต่อไป

เพราะแม้ดอกเบี้ยบ้านจะปรับขึ้น แต่หากดูตัวเลขในอดีต คนซื้อบ้านเคยเจอดอกเบี้ยแพงกว่านี้หลายเท่ามาแล้ว เพียงแต่อาจทำให้ผู้ซื้อชั่งใจมากขึ้น เพราะคุ้นเคยกับดอกเบี้ยระดับต่ำมานาน

อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลคือปัญหาเงินเฟ้อในไทยและทั่วโลกยังไม่มีทีท่ายุติง่าย ๆ หลายประเทศเปิดตัวเลขน่าตกใจเพราะเงินเฟ้อสูงทุบสถิติในรอบ 30-40 ปี และคาดว่าจะลามไปถึงปีหน้า ทำให้ต้องใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง


การประเมินว่าไทยจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 นี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ไม่ต่างจากคลื่นลูกแรกเท่านั้น หากเงินเฟ้อจนถึงสิ้นปีไม่ดีขึ้น ปีหน้าคลื่นดอกเบี้ยน่าจะถล่มอีกหลายระลอก