กลั่นนโยบายพลังงาน

โรงกลั่น
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

วิธีการของรัฐบาลที่จะหั่นกำไรโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซเพื่อนำเงินหลักพันล้านเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะทำได้เพียงใด กรณีนี้จะเป็นที่โจษจัน และจะเป็นกรณีศึกษาครั้งใหญ่

เพราะโรงกลั่นทั้ง 6 โรง เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินกิจการภายใต้กฎหมาย และเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันโลกอย่างต่อเนื่องทั้งช่วงโควิดและสงคราม จู่ ๆ ตกเป็นเป้าหมายขอแบ่งกำไร และต้องเสียสละในภารกิจช่วยชาติ จึงเกิดคำถามขึ้นมากมาย

นับตั้งแต่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะ “ขอความร่วมมือ” โรงกลั่นด้วยวิธีการดังกล่าว ราคาหุ้นของบริษัทโรงกลั่นน้ำมัน 6 บริษัท ได้แก่ TOP, IRPC, PTTGC, BCG, ESSO และ SPRC ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตกลงอย่างหนัก มูลค่ากิจการของทั้ง 6 โรงกลั่นหายไประดับหมื่นล้าน

พร้อมกับที่เกิดความหวั่นไหวในภาคเอกชนว่ารัฐจะใช้กฎหมายใดมาจัดการวิธีการเหล่านั้นขัดแย้งกับตลาดเสรีและการค้าเสรีหรือไม่ จะเกิดความผิดพลาดเหมือนที่รัฐเคยเข้าแทรกแซงกิจการของเอกชนต่างชาติอีกหรือไม่

หัวข้อหนึ่งที่กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นว่ามีความเข้าใจผิดคือ เรื่องค่าการกลั่นน้ำมันสูงขึ้น แท้จริงแล้วสูงจากความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาวการณ์ปกติ หรือช่วงก่อนโควิด

ที่สำคัญคือ ค่าการกลั่นไม่ได้แสดงถึงกำไรของโรงกลั่น เพราะโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายหลายรายการที่ต้องหักออกก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นกำไรก่อนหักภาษี

เป้าหมายของรัฐบาลที่จะขอแบ่งกำไรที่เกิดจากการกลั่นน้ำมันส่วนเกินเป็นการชั่วคราว กรกฎาคมถึงกันยายน 2565 เดือนละ 500-1,000 ล้านบาท มาจากความพยายามหาเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เงินร่อยหรอลง และติดลบเข้าใกล้ 1 แสนล้านบาท หลังใช้ไปคุมราคาน้ำมันดีเซลในตลาดอย่างต่อเนื่อง

แม้เบื้องต้นนี้จะมีโรงกลั่นที่แสดงท่าทีว่าช่วยก็ได้ แต่ก็มีเช่นกันที่ส่งสัญญาณว่าไม่เต็มใจ ความลักลั่นเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับรัฐบาล

สถานการณ์ที่น่าอึดอัดและการหาทางออกที่แสนจะตีบตันครั้งนี้ ตอกย้ำจุดอ่อนด้านพลังงานของไทยอีกครั้ง ซึ่งหากรัฐบาลนี้ยังเมาหมัดและจัดการไม่ได้ พรรคการเมืองต่าง ๆ ควรต้องนำโจทย์นี้ไปคิดหาแนวทางการบริหารในระยะกลางและระยะยาวมานำเสนอต่อประชาชนในช่วงหาเสียง

ทำอย่างไรที่จะปรับสัดส่วนการใช้พลังงานให้ลดการพึ่งพาน้ำมันดิบที่นำเข้าสูงถึง 85-90% จากปริมาณการใช้วันละหนึ่งล้านบาร์เรล และรัฐบาลจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องกลั่นออกมาเป็นนโยบาย