รับมือดอกเบี้ยขาขึ้น

กนง.-ดอกเบี้ยนโยบาย
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

มีสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่าภายในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครั้ง และคาดว่าอยู่ในช่วงไตรมาส 3 เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงจนน่าตกใจอยู่ที่ 7.1% ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และในเดือน มิ.ย.น่าจะยังทรงตัวในระดับสูงทำให้ ธปท.ปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้จาก 4.9% เป็น 6.2% สาเหตุมาจากราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันที่ยังเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อีกหนึ่งสัญญาณที่ส่งออกมากลาย ๆ ไม่พ้นการประชุม กนง.หนล่าสุด ที่แม้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% แต่มติที่ออกมา 4 ต่อ 3 เสียง บ่งบอกว่า กนง.เริ่มเอนเอียงไปทางปรับดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า โดยกำลังพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ บวกกับหลายประเทศทั่วโลกอั้นไม่อยู่ปรับดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้านานแล้ว และจ่อปรับขึ้นอีกหลายครั้งในปีนี้

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อเป็นมาตรการแรก ๆ ที่เลือกใช้ เพราะการปล่อยเงินเฟ้อในระดับสูงส่งผลกระทบในภาพรวมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน และเงินเฟ้อมีแนวโน้มยิ่งสูงมากขึ้นจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่วนปัจจัยภายในประเทศแรกสุด คือ ค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะประกาศในช่วงท้ายไตรมาส 3 ไม่นับรวมราคาสินค้าที่แพงขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้นข้อดีไม่พ้นผู้มีเงินฝากเพราะจะได้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม ส่วนจะมากขนาดไหนยังต้องติดตามเพราะปัจจุบันสภาพคล่องของสถาบันการเงินมีอยู่สูงมาก ตัวเลขเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์เมื่อสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาสูงถึง 15.62 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 400,539 ล้านบาทเติบโต 2.6% เมื่อเทียบสิ้นปี 2564 ที่มียอดคงค้าง 15.22 ล้านบาท และหากเทียบกับเดือน เม.ย. 2564 เติบโต 5%

เมื่อเทียบตัวเลขเงินฝากและสินเชื่อ พบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินฝากเพิ่มขึ้นทุกแห่ง ขณะที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้น้อยกว่า ทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินสูงถึง 1 ล้านล้านบาท นี่จึงเป็นอีกภาระของธนาคารที่ต้องรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงิน จึงมีหลายครั้งที่สถาบันการเงินมักปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

ส่วนข้อเสียชัดเจนคือต้นทุนภาคธุรกิจรวมถึงภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้ ต้องแบกรับภาระการผ่อนที่มากขึ้น ที่น่ากังวลคือหนี้บัตรเครดิต รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ค่อยยาวอยู่แล้ว จึงจำเป็นที่ต้องปรับตัวให้เร็วและทันกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

เนื่องจากคนไทยคุ้นเคยกับดอกเบี้ยระดับต่ำมานานหลายปี การเพิ่มภาระหนี้สินในช่วงต่อจากนี้จึงต้องระมัดระวังอย่างสูง เช่นเดียวกับภาครัฐที่ต้องเร่งหามาตรการดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ย