ไทยพร้อมรับมือแค่ไหนกับ “วิกฤตอาหารโลก”

อาหารโลก
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : กฤชนนท์ จินดาวงศ์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ตั้งแต่เกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนราคาพลังงาน ปุ๋ยเคมี รวมถึงอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

โดยจากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ในเดือนพฤษภาคม 2022 พบว่าดัชนีราคาอาหารอยู่ในระดับสูงที่ 157.36 เพิ่มขึ้น 22.8% YOY และเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร จนทำให้ในปัจจุบันมีกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่ใช้นโยบาย Food Protectionism เพื่อปกป้องการบริโภคและรักษาระดับราคาอาหารในประเทศ

โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มข้าวสาลีและน้ำมันปรุงอาหาร จึงทำให้มีคำถามที่น่าสนใจว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไทยมีความพร้อมในการรับมือแค่ไหน รวมถึงวิกฤตอาหารในครั้งนี้จะส่งผลต่อไทยในมิติไหนบ้าง

สำหรับในระยะสั้นผู้เขียนมองว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตอาหาร เนื่องจากไทยสามารถผลิตอาหารได้มากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ โอกาสที่ไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจึงมีน้อย

ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเกษตรในกลุ่มน้ำตาลไทยสามารถผลิตได้ประมาณปีละ 10-11 ล้านตันต่อปี ส่งออกได้ประมาณปีละ 6-7 ล้านตัน ทำให้มีน้ำตาลเหลือสำหรับการบริโภคในประเทศ 4-5 ล้านตัน ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยประมาณครึ่งหนึ่งของสต๊อกที่มี

อย่างไรก็ดี ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญบางชนิดจากต่างประเทศ เช่น ถั่วเหลือง และโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่ในปัจจุบันราคานำเข้าพุ่งขึ้นสูงตามราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ จึงอาจทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกพืชเกษตรไปจนถึงการผลิตอาหารอยู่ในระดับสูงตามไปด้วย และอาจบั่นทอนศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าอาหารไทยในตลาดโลก

ส่วนในระยะกลาง-ยาว (2023-2028) มองว่าประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจะหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตในประเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออกสินค้าเกษตรโลก

เช่น ประเทศจีน ที่มีนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (self sufficiency) ซึ่งจะส่งผลให้จีนนำเข้าอาหารลดลงโดยเฉพาะข้าวที่จีนมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 3,600 กิโลกรัม ทำให้ในระยะต่อไปจีนจะมีผลผลิตข้าวมากเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอิหร่านที่เดินหน้าโครงการปลูกพืชเกษตรเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น ข้าว พืชที่สกัดทำน้ำมัน และธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น

โดยสรุปแล้วผู้เขียนมองว่า แม้ในระยะสั้นไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารโลกค่อนข้างน้อย แต่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ยเคมี เป็นต้น

ดังนั้น ไทยควรนำเทคโนโลยีเกษตรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยี IOT หรือเซ็นเซอร์วิเคราะห์แร่ธาตุในดินเพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถเลือกชนิดของปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดิน ซึ่งจะทำให้พืชและดินตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดีขึ้น หรือการประยุกต์ใช้ biotechnology มาช่วยในการปรับปรุงสายพันธุ์พืชเพื่อให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการวางนโยบายที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องการจัดโซนนิ่งในการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหาร กับการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานทดแทน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดปัญหาขาดแคลน

รวมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตรและอาหารที่เชื่อมโยงกันและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรม ข้อมูลการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้อมูลความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ จนถึงข้อมูลคุณภาพดินเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาวางแผนและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ถูกต้อง และรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการและการกำหนดนโยบายในภาวะวิกฤตทำได้ดีขึ้น

อีกทั้งออกมาตรการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือด้านต้นทุนเพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยการผลิตทั้งค่าปุ๋ยและค่าแรงงานที่สูงขึ้น