ESG 4 Plus ภารกิจขับเคลื่อน แก้วิกฤตโลก

SCG

เมื่อโลกที่เราอยู่กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายรอบด้าน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี (SCG) จึงเชื่อว่า ESG (Environmental, Social, Governance) ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต่างลุกขึ้นมาร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตซ้ำซ้อนที่ใกล้ตัวมากขึ้น

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี (SCG) กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่กำลังก่อตัวอยู่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งวิกฤตที่ซ้ำซ้อนจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข เพราะเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

ฉะนั้นแนวทาง ESG กรอบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกอันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ และโมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนของรัฐ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) จึงเป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยแก้วิกฤตซ้ำซ้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ได้

เอสซีจีจึงตั้งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขวิกฤตที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือสร้าง roadmap ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทยกับสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตโลก (Global Cement and Concrete Association-GCCA) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593 พร้อมเตรียมนำแผนงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP 27) ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศอียิปต์

“วิกฤตที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นวิกฤตใหญ่ที่สำคัญและเร่งด่วน เราต้องการความร่วมมือ ระดมความคิด และลงมือทำอย่างจริงจังของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนั้นการแก้ไขวิกฤตจึงไม่ใช่การทำแบบเดิม ๆ แต่คือการปฏิวัติปรับเปลี่ยน (evolution) อย่างฉับพลันแบบวิถีใหม่ (disruption) ผนึกพลังความร่วมมือ (power of collaboration) ของทุกภาคส่วนในระบบนิเวศ (ecosystem) โดยใช้ ESG เป็นตัวขับเคลื่อน (ESG pathway)”

เอสซีจีก่อตั้งเมื่อ 8 ธันวาคม 2456 โดยปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 109 จึงยกระดับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development : SD) สู่แนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ 1.มุ่ง Net Zero 2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ 4.ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส ซึ่งแนวทาง Net Zero และ Go Green เอสซีจีประมาณการเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงร้อยละ 20 ภายในปี 2573

แนวทางที่ 1 Net Zero มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ การใช้ลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง

นอกจากนี้เอสซีจียังเดินหน้าปลูกต้นไม้ 3 ล้านไร่ และป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ เพื่อดูดซับ 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมขยายผลไปในอาเซียน รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ 130,000 ฝาย เพื่อฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่าต้นน้ำ และขยายชุมชนการจัดการน้ำยั่งยืนให้ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ

แนวทางที่ 2 Go Green มุ่งพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่า จากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 67 ภายในปี 2573 นอกจากนี้ยังตั้งบริษัท SCG Cleanergy ให้บริการโซลูชั่นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ

แนวทางที่ 3 Lean เหลื่อมล้ำ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ชุมชนรอบโรงงาน และ SMEs 20,000 คน ภายในปี 2568 ผ่านทุนการศึกษาจากโครงการ Learn to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี รวมถึงเสริมความรู้เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ด้วย Kubota Smart Farming นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ยังช่วยเหลือ SMEs ให้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม NocNoc.com และ Prompt Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงให้สินเชื่อร้านค้าช่วงและผู้รับเหมารายใหญ่ผ่านแพลตฟอร์ม Siam Saison

แนวทางที่ 4 ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส มุ่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก โดยล่าสุดร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุม Green Meeting ในงานประชุม APEC 2022 และ ASEAN Summit นอกจากนี้ยังจัดงาน ESG Symposium ในไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย เพื่อเชิญชวนทุกภาคส่วนในอาเซียนร่วมขับเคลื่อน ESG ต่อไป ทั้งนี้ เอสซีจีได้ขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทาง ESG 4 Plus ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) ดำเนินทุกกิจกรรมอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้

“นับจากนี้ ESG 4 Plus จะเป็นภารกิจสำคัญที่เอสซีจีและพนักงานทุกคนจะทุ่มเทความพยายามอย่างสุดความสามารถ ผสานทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นและดูแลสังคมให้ยั่งยืน”