หุ้นกู้ยั่งยืน

หุ้นกู้
คอลัมน์ : CSR Talk
ผู้เขียน : ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

กระแสแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ได้รับความนิยมในตลาดทุนอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับนักลงทุนที่ใช้หลักเกณฑ์ด้าน ESG สำหรับพิจารณาลงทุนในบริษัทต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจของสำนักข่าวบลูกเบิร์กพบว่า มูลค่าของ “หุ้นกู้ยั่งยืน” หรือ “sustainability-linked bond” (SLB) ณ วันที่ 13 กันยายน 2565 มีมูลค่าสูงกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์ (หรือกว่า 6.4 ล้านล้านบาท)

หุ้นกู้ยั่งยืน-แหล่งเงินทุนใหม่สำหรับธุรกิจ

หุ้นกู้ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งเม็ดเงินลงทุนของบริษัท เพียงแต่หุ้นกู้ถือเป็นการยืมเงินมาจากนักลงทุนทั่วไป แทนการกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือแหล่งเงินกู้เอกชนอื่น ๆ ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้มักเป็นนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และปลอดภัยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น

หุ้นกู้ยั่งยืน (sustainability-linked bond) แตกต่างจากหุ้นกู้สีเขียว (green bond) ตรงที่หุ้นกู้สีเขียวนั้นจำกัดการลงทุนเฉพาะในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่หุ้นกู้ยั่งยืนสามารถนำเม็ดเงินไปใช้ได้หลากหลายวัตถุประสงค์มากกว่า ตราบใดที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน และบริษัทยินยอมจ่ายผลตอบแทนคืนในอัตราที่สูงขึ้น

หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้ เช่น Enel บริษัทพลังงานจากอิตาลียินยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25% หากไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตติดตั้ง (installed capacity) พลังงานทดแทนได้ถึง 55% ภายในสิ้นปี 2021 (ซึ่งบริษัทสามารถทำได้สำเร็จ) และด้วยความยืดหยุ่นในเรื่องการตั้งเป้าหมายที่มีมากกว่าหุ้นกู้สีเขียว จึงส่งผลให้ธุรกิจนิยมออกหุ้นกู้ยั่งยืนสูงขึ้น

เรื่องดี ๆ ล้วนสามารถตั้งเป็นเป้าหมายสำหรับหุ้นกู้ยั่งยืน

ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของบริษัทสำหรับระบุเป็นเป้าหมายของการออกหุ้นกู้ยั่งยืน สามารถเลือกประเด็นได้จากทั้งมิติสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) หรือการกำกับดูแลกิจการ (governance) หรือ ESG นั่นเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัท

ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่มักเลือกใช้เป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีเป้าหมายอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน อาทิ คาร์ฟูร์ ซูปเปอร์มาร์เก็ตจากฝรั่งเศส เลือกเป้าหมายเป็นเรื่องของการลดขยะอาหารลงให้ได้ 50% ภายในปี 2025 (จากปีฐาน 2016)

และลดปริมาณของบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่จะออกสู่ท้องตลาดลงให้ได้ 20,000 ตัน ภายในปี 2025 (ปริมาณรวมสะสมตั้งแต่ปี 2017) หรือ JAB Holding ที่ระบุเป้าหมายมีผู้หญิงเป็นกรรมการบริษัท (ที่ไม่ใช่กรรมการบริหาร) อย่างน้อย 30% ของคณะกรรมการทั้งหมดภายในปี 2025

นอกเหนือไปจากเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรง และทางอ้อม เป็นต้น

หุ้นกู้ยั่งยืน-ความมุ่งมั่นที่จะสร้างเรื่องดี ๆ ให้กับโลกหรือเพียงแนวคิดใหม่สำหรับการสื่อสารทางการตลาด

แม้นักลงทุนจากหลายสถาบันเชื่อว่าการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบนแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ และให้ความนิยมต่อการลงทุนในหุ้นกู้ยั่งยืน แต่กระนั้น ยังมีนักลงทุน และนักวิเคราะห์บางกลุ่มที่มองว่าการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ประเภทนี้มีความท้าทาย

และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้จริง ๆ หรือจะเป็นเพียงการสื่อสารทางการตลาดเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน โดยเป้าหมายที่นำเสนอล้วนเป็นเรื่องปกติสำหรับการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว (business-as-usual)

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ได้มีกฎเกณฑ์ หรือระเบียบข้อบังคับต่อหุ้นกู้ยั่งยืนที่เด่นชัด แต่ได้มีบางหน่วยงานที่สร้างหลักการสำหรับหุ้นกู้ยั่งยืน ลักษณะการเปิดเผยข้อมูล การรายงาน รวมไปถึงการสร้างทะเบียนสำหรับตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนเพื่ออ้างอิง และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับประเด็นที่มีนัยสำคัญ และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท

เช่น ลักษณะเป้าหมายของหุ้นกู้ยั่งยืนที่จัดทำโดย The International Capital Market Association (ICMA) หรือแนวทางการรายงานและการเปิดเผยข้อมูลสำหรับแต่ละอุตสาหกรรมในตลาดทุนของ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) เป็นต้น

หุ้นกู้ยั่งยืนอาจเพิ่งเกิดขึ้นในตลาดทุนได้เพียงไม่นาน และยังต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนา รวมถึงสร้างผลงานเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแนวคิดที่ดีต่อธุรกิจ ดีต่อสังคมและดีต่อโลกใบนี้อย่างแท้จริงหรือไม่ แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง

โลกเราจะสามารถรอได้จนถึงวันนั้นหรือเปล่า ?