รวม 13 กลยุทธ์สร้างคนขององค์กรชั้นนำ จากเวที HR Innovation Award

การทำงาน
Photo: Jason Goodman/unsplash

การสร้างนวัตกรรมในด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRM & HRD) เป็นการยกระดับงาน HR ให้เป็นที่น่าเชื่อถือไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงจัดให้มีโครงการรางวัลนวัตกรรมการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HR Innovation Award) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านงาน HR อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง นำพาองค์การไปสู่ความยั่งยืนและเป็นองค์การสมรรถนะสูง (high performance organization : HPO) เป็นหน้าที่สำคัญของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยผ่านกลไกและเครื่องมืออันหลากหลาย

เจตนารมณ์ของการมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมรณรงค์ยกระดับการสร้างสรรค์ นวัตกรรมด้านการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กระตุ้นให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมีความตื่นตัวในการคิดค้นนวัตกรรมในการบริหารงานบุคคล อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นแนวทางให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมในองค์กร ทุกขนาดและทุกประเภท ทั้งนี้มุ่งให้การสนับสนุนการเกิดนวัตกรรมในธุรกิจ SMEs อีกด้วย

โดยปลายปี 2565 มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาตัดสินและรับรางวัล ทั้งหมด 3 ระดับ รวมจำนวน 13 โครงการ ได้แก่

ระดับ Gold Award 3 โครงการ

1.โครงการ WEDO Young Talent Program โดย WEDO, SCG Cement-Building Materials Co., Ltd.

เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนา future talent ผู้ซึ่งเป็นความหวังของประเทศ ให้ค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง จึงไม่ใช่ “ทางเลือก” แต่เป็น “ทางรอด” WEDO Young Talent Program จึงเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัย ทุกชั้นปี ได้ลงมือทำงานจริงภายใต้คอนเซ็ปต์ micro enterprise

ผู้สมัครทุกคนจะได้รับการติดอาวุธความรู้ ด้าน design-business-technology ที่จำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรมจาก boot-camp และ Hell Day ด่านทดสอบ 24 ชั่วโมง ที่ออกแบบโดยเฉพาะเพื่อวัดครบทั้งทัศนคติ ทักษะ ความมุ่งมั่น ความพยายาม และความอดทน

เพื่อหา “Young Talent สุดในรุ่น” เข้าร่วม Hell Weeks 13 สัปดาห์แห่งการทำจริง โจทย์จริง เจ็บจริง น้อง ๆ จะได้ค้นพบศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัด พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Born in Thailand” กับพี่ ๆ จาก WEDO เพื่อขับเคลื่อนสังคม และประเทศชาติ ไปสู่เศรษฐกิจแห่งความคิดสร้างสรรค์ในอนาคต

2. โครงการ Building The Next-Generation IT Digital Workforce โดยบริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

ในฐานะผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในเครือบริษัท CP ALL Group เล็งเห็นถึงความสำคัญในการ upskills & reskills บุคลากร ในตลาดแรงงานให้มีทักษะด้าน IT จึงเกิดเป็นหลักสูตร Online Courses และ Class Practices ทางด้าน IT ที่เปิดโอกาสให้กับบุคลากรและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าเรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

โดยมีตั้งแต่ระดับ beginner จนถึง pre-intermediate ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างบุคลากรที่มีทักษะทางด้าน IT ให้กับบริษัทเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกำลังแรงงานทางด้าน IT ให้กับประเทศอีกด้วย

3.โครงการ ซีพีพีซี ใส่ใจห่วงใยคุณ โดยบริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน)

ด้วยมุมมองที่ว่าการเจ็บป่วยของพนักงานและญาติพนักงานส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ของบริษัท จึงคิดโครงการ ซีพีพีซีใส่ใจ ห่วงใยคุณ เพื่อสร้าง employee experience ด้านระบบการรักษาพยาบาล โดยเป็นนวัตกรรมเชิงกระบวนการผสมผสาน “ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา” ที่ให้บริการสุขภาพทั้งในรูปแบบ offline และ online เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงทั้งที่เป็นญาติพนักงานรวมถึงขยายผลไปยังผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน

ระดับ Silver Award 9 โครงการ

1. โครงการ New Experience in Recruitment on Metaverse โดยบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

มุ่งเน้นการทำงานบน Metaverse โดยคัดเลือกโปรแกรม GATHER.TOWN ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ในรูปแบบจําลองเสมือนจริง สร้างการมีส่วนร่วมในหลายส่วนงานโดยสร้างสรรค์เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมรับสมัครงาน (virtual job fair) พื้นที่ในการแนะนําธุรกิจในเครือ ที่มีความหลากหลาย แนะนําตำแหน่งงานว่าง สมัครงานและเข้าสัมภาษณ์ออนไลน์

เชื่อมโยงการทำงานกับเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียขององค์กร ครอบคลุมเรื่อง PDPA และเพิ่มความน่าเชื่อถือในการสมัครงานยิ่งขึ้น และยังสามารถต่อยอดพัฒนาประยุกต์ใช้เป็นพื้นที่ออฟฟิศออนไลน์ได้อีกด้วย นำไปสู่การสร้างประสบการณ์เชิงบวก ในรูปแบบแปลกใหม่ให้กับผู้สมัคร (candidate journey) ได้เพลิดเพลินตลอดการเข้าใช้งานภายใต้การรองรับความเป็นส่วนตัว ให้ผู้สมัครสามารถสร้างแคแร็กเตอร์ในการใช้งานได้ด้วยตนเอง นอกจากความสนุกแล้ว ยังได้เรื่องความปลอดภัยอีกด้วย

2. โครงการ BCP Digital Driven for 100X Citizen Developer โดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สร้าง “100X Citizen Developer from Non-IT background” จากการเขียน low code platform โดยการให้ความรู้ผู้เข้าร่วมโครงการด้วยรูปแบบ Digital Mentorship & Coaching มีพนักงาน IT เป็น internal instructor ที่ผ่านโครงการ Train the Trainer อีกทั้งยังสร้างสร้าง user experience – user interface ผ่านการใช้ low code platform

เกิดเป็น tailor-made application เพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานของแต่ละหน่วยงาน โดยผ่านกระบวนการ design thinking อย่างแท้จริง ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน และลูกค้าของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่ design, process และ end result ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการขยายผลสู่ บริษัทในกลุ่มบางจากฯ รวมทั้งนักศึกษาฝึกงานต่อไป

3. โครงการวัยทำงานจัดการเงินสู่วัยเรียนเซียนเก็บเงิน โดยบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

เป็นหลักสูตรทางการบริหารจัดการวินัยทางด้านการเงินโดยนำองค์ความรู้ที่ได้ในองค์กร มาออกแบบหลักสูตรร่วมกับบริษัทสตาร์ตอัพ ผ่านเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายผ่าน gamification บนแอปพลิเคชั่น เป็นการบริหารจัดการเงินที่นำไปปฏิบัติได้จริง

ต่อยอดจากหลักสูตรเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพนักงานมืออาชีพ ให้เป็นหลักสูตรของพนักงานอนาคต (เด็กนักเรียน/นักศึกษา) สามารถช่วยเหลือในการบริหารจัดการข้อมูลทางด้านการเงินของพนักงาน และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาช่วยในการวิเคราะห์ในการบริหารอัตราค่าตอบแทนของพนักงานที่เหมาะสม อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดสรรสิทธิสวัสดิการพนักงานในรูปแบบการพัฒนาตนเอง เพื่อรับสิทธิสวัสดิการแรงจูงใจที่แตกต่างเฉพาะบุคคล

4. โครงการพร้อมเพื่อน (เราพร้อมเป็นเพื่อนคุณ) โดยบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

“พร้อมเพื่อน พร้อมพอยท์ Official” Line OA ที่ตอบโจทย์ทุก pain point ของพนักงาน ครอบคลุมทุกปัญหา คลายความกังวล ตอบทุกข้อสงสัย พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมงทุกวัน เปลี่ยน active culture เป็นคะแนนพฤติกรรมสกุล Prompt Point เพื่อนำมาแลกเป็นของรางวัลตามไลฟ์สไตล์ แบบครบจบในที่เดียว

“พร้อมเพื่อน” ยังเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพนักงาน มี personalize เป็น สาวน้อยพนักงานวัย 20 กว่าปี มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นมิตร ชอบช่วยเหลือผู้คนรอบข้างซึ่ง HR ใช้พร้อมเพื่อนเป็น influence ในการสื่อกลางกับพนักงานภายในองค์กร และภายนอกองค์กร ออกมาในรูปแบบ cartoon mascot และ virtual influences

5. โครงการ Holistic Career Development โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

มุ่งสร้างโอกาสไร้ขีดจำกัดให้เกิดขึ้นได้จริง โดย HR ได้บูรณาการระบบ กระบวนการ ข้อมูล เครื่องมือและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ที่จะสนับสนุนให้พนักงานสามารถออกแบบและวางแผนเส้นทางอาชีพ ได้อย่างเป็นองค์รวมและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมตั้งแต่

• โครงสร้างพื้นฐานทางด้านการพัฒนาอาชีพ: job family structure, competency, career path และกระบวนการเรียนรู้ (individual development plan, 70:20:10 learning program)

• นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาชีพ (career policies): promotion, rotation และ internal recruitment

• เครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ (career tools): career profile, my career, my IDP, และ career dashboard

• การเตรียมความพร้อมของผู้ที่เกี่ยวข้อง (stakeholder roles & capabilities) ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หัวหน้างาน และ HRBP

6. โครงการ GSB HAPPY POINT : POINT สร้างสุข โดยธนาคารออมสิน

ระบบ “point” นวัตกรรมด้านทรัพยากรบุคคล โดยได้เริ่มใช้ระบบแรกคือ Branch Point ในการผลักดันผลการดําเนินงานสายงานกิจการสาขาตามความสำคัญ แต่ละผลิตภัณฑ์ ที่ต่างกัน สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์และมีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่แท้จริงมากขึ้น

ต่อมาได้พัฒนาต่อยอดเป็นระบบ Wisdom Point ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ จนนําไปสู่การถอดองค์ความรู้จากบุคลากรที่มีผลการดําเนินงานดีเด่น มาแบ่งปันองค์ความรู้ผ่านระบบ GSB WISDOM และคัดเลือกเป็น role model เพื่อถ่ายทอด best practice ช่วยให้สามารถดําเนินงานบรรลุเป้าหมายมากขึ้น

รวมถึงระบบ GSB Way Point ที่เสริมสร้างความผูกพันของบุคลากรให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนค่านิยมองค์กร GSB Way สู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด

7. โครงการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายด้วย Si-eHR Portal โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

Si-eHR อาจจะดูเหมือนระบบ Employee Self Service (ESS) ทั่วไป แต่ความท้าทายที่สำคัญของระบบ Si-eHR คือ การร่วมมือกันระหว่างฝ่ายทรัพยากรบุคคลและฝ่ายสารสนเทศ ในการออกแบบและพัฒนาระบบให้บุคลากร เข้าใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการเชื่อมต่อกับข้อมูลจากระบบต่าง ๆ ที่มีจำนวนมาก และมีความซับซ้อนของเงื่อนไข

โดยระบบมีความยืดหยุ่นต่อการพัฒนาเพิ่มเติม หรือรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น ระบบใบลา ข้อมูลโควตาการลาในแต่ละประเภทการจ้างจะมาจากระบบ SAP มาแสดงสิทธิการลาที่ Si-eHR และเมื่อบุคลากร มีบันทึกการลาในระบบ Si-eHR

ข้อมูลจะถูกส่งไปยังระบบ e-Document เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอนุมัติ ระบบการจัดพิมพ์หนังสือรับรองการทำงาน ที่ได้ข้อมูลที่ Update จากระบบ SAP โดยตรง ระบบประวัติวัคซีน ที่ข้อมูลมาจากระบบโรงพยาบาล

8. โครงการ Better Futures (of Work) โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

มุ่งยกระดับประสบการณ์การทำงานที่ดี รวมทั้งลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานกว่า 4,700 คนทั่วประเทศ โดยใช้ chatbot มาเป็นเครื่องมือหลักให้พนักงานสามารถปฏิสัมพันธ์กับระบบต่าง ๆ ผ่านการแชท อีกทั้งยังถูกออกแบบให้สามารถปรับแต่งข้อมูลต่าง ๆ ตามแบบเฉพาะของพนักงานแต่ละคน

เรียกได้ว่าเป็นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา มีส่วนร่วมในแต่ละ touch point การทำงานของพนักงานตลอดทั้ง working journey และเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และออกแบบเครื่องมือต่าง ๆ ให้สอดรับกับปัญหาของพนักงานตลอดจนการรับข้อเสนอแนะมาใช้ปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น

9. โครงการ แบ่งปัน “ทีเด็ด” เพื่อบุคลากรและสังคม “อิ่มรู้” (Kitchen of Knowledge) โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

“ความรู้ที่ดี คือความรู้ที่ได้ใช้” การจัดการองค์ความรู้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมไว้ในระบบ แต่ขาดการเข้าถึงและนำไปใช้จริง Kitchen of Knowledge หรือ แบ่งปัน “ทีเด็ด” เพื่อบุคลากรและสังคม “อิ่มรู้“ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการจัดการ องค์ความรู้รูปแบบใหม่ เพื่อ 3 ประโยชน์ บุคลากรและองค์กร คู่ค้า และการศึกษา

โดยคำนึงถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนในปัจจุบัน 3-JUST: Just Enough (ปริมาณที่ใช่) Just in Time (เวลาที่ใช่) และ Just for Me (เนื้อหาที่ใช่) และเพื่อขยายผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จ คือ หน่วยธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ผ่านการนำนวัตกรรมมาปรับใช้

รางวัลชมเชย 1 โครงการ

โครงการ Excellent Labor Relations with a Great Organization โดยบริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน)

โครงการแรงงานสัมพันธ์ที่เยี่ยมยอดกับองค์กรที่ยอดเยี่ยม เกิดขึ้นภายใต้การบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เป็นเลิศกับองค์กรที่ยอดเยี่ยม โดยใช้แนวคิด 6 มิติ ในการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างการยอมรับ การสร้างความรู้ความเข้าใจ การส่งเสริมการมีตัวตนของสหภาพฯในองค์กร การจัดการความขัดแย้งในองค์กร และการทำงานที่มีคุณค่า


ส่งผลทำให้การบริหารแรงงานสัมพันธ์ของบริษัท ไม่มีข้อเรียกร้องประจำปี 3 ปีต่อเนื่อง (2562-2564) และเกิดรูปแบบการจ่ายโบนัสประจำปีแบบ PSR: profit sharing ratio ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้เกิดบรรยากาศด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร