LeadershipACT

Leadership
คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมสอนหลักสูตรใหม่ของสลิงชอท ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้นำไทยให้มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (Building Thai Leaders to World-class Leadership) ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนชื่อ “LeadershipACT”

เนื้อหาแบ่งเป็น 10 บท เรียนบทละครึ่งวัน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาจริง เหมือนแนวทางที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใช้ในการพัฒนาผู้บริหารจนประสบความสำเร็จเป็นที่กล่าวขานทั่วโลก

ทำไมตั้งชื่อแบบนี้ ?

ในการบริหารทีมงาน หรือองค์กรให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 3 ประการประกอบกัน คือเป้าหมายและกลยุทธ์ (strategy), ความเป็นผู้นำ (leadership) และวัฒนธรรมองค์กร (culture)

การบริหารจัดการแบบเก่า (traditional) ผู้นำมักใช้วิธีการที่เรียกว่า SAT (แปลว่า นั่งเฉย ๆ) ซึ่งย่อมาจาก size-กลยุทธ์ที่เน้นการเติบโต โดยวัดจากขนาดของยอดขาย ส่วนแบ่งตลาด และขนาดขององค์กร เป็นต้น

authority-แนวทางในการจัดการ ใช้วิธีการควบคุม และสั่งการจากผู้บริหารระดับสูง ที่นั่งอยู่บนยอดสูงสุดของพีระมิด toxic-วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่สร้างสรรค์ ปัดแข้งปัดขา ทำงานแบบไซโล ขาดการประสานงานกัน

การบริหารจัดการแบบใหม่ (contemporary) ผู้นำจะใช้วิธีการที่เรียกว่า ACT (แปลว่า ลงมือทำ) ซึ่งย่อมาจาก articulate-ผู้นำจะสื่อสาร และอธิบายเป้าหมาย & กลยุทธ์ให้ทุกคนเข้าใจและเห็นภาพร่วมกัน

connect-แนวทางการบริหาร ที่เน้นการมีส่วนร่วม การร่วมมือกันทั้งแนวตั้งคือจากบนลงล่าง และแนวนอนคือระหว่างเพื่อนร่วมงาน และแผนกต่าง ๆ trust-วัฒนธรรมในการทำงาน เป็นแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน หัวหน้าไว้ใจลูกน้องมอบหมายหน้าที่และอำนาจในการตัดสินใจให้ ในขณะที่พนักงานก็เชื่อมั่นในผู้บริหาร

ด้วยเหตุนี้จึงตั้งชื่อว่า “Leadership ACT” โดยภายใต้ ACT มีคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับผู้นำ (persona) 6 ประการ ซึ่งได้มาจากการเก็บข้อมูล และการทำวิจัย ด้วยการเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของผู้นำระดับโลก (global leaders) ที่กำหนดโดยสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งในอเมริกา, ยุโรป และเอเชีย จำนวน 38 องค์กร

อาทิ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยเอ็มไอที, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, มหาวิทยาลัยโตเกียว, มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ รวมทั้งสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาวะผู้นำอีกหลายแห่ง เป็นต้น

ซึ่งรายละเอียดทั้ง 6 คุณลักษณะ ซ่อนอยู่ใน 3 หัวข้อหลักมีดังนี้

– articulated leader ประกอบด้วย 2 คุณลักษณะ ได้แก่ uncharted explorer คุณลักษณะของการเป็นนักสำรวจความแปลกใหม่ หมายถึง ความสามารถในการมองหาโอกาสใหม่ ๆ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง และ success warrior คุณลักษณะของการเป็นนักรบผู้พิชิตความสำเร็จ หมายถึง ความสามารถในการผลักดันงานที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์

– connected leader ประกอบด้วย 2 คุณลักษณะ ได้แก่ empathic communicator คุณลักษณะของการเป็นนักสื่อสารผู้เข้าใจคน หมายถึงความสามารถในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้คนรอบด้าน และ synergistic winner คุณลักษณะของการเป็นนักผนึกกำลัง หมายถึงความสามารถในการสร้างสัมพันธ์ที่ดี ทั้งภายในทีมงานด้วยกันเอง และระหว่างทีมต่าง ๆ รวมถึงพันธมิตรภายนอกองค์กรด้วย

– trusted leader ประกอบด้วย 2 คุณลักษณะ ได้แก่ diversity promoter คุณลักษณะของการเป็นนักส่งเสริมความหลากหลาย หมายถึงความสามารถในการจัดการกับความขัดแย้ง การบริหารความหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ torch bearer คุณลักษณะของการเป็นผู้ถือคบไฟนำทาง หมายถึงความสามารถในการมองการณ์ไกล เห็นแนวโน้มต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างและพัฒนาผู้นำรุ่นถัดไป


ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้นำจะนั่งเฉย ๆ (SAT) อย่างที่ผ่านมา ไม่ได้แล้ว จากนี้ไปต้องลุกขึ้นและลงมือทำ (ACT) และนี่คือหัวใจสำคัญของ LeadershipACT