“โลกที่ไม่แน่นอน” 3 องค์กรตั้งรับความท้าทายใหม่

SEAC (Southeast Asia Center) หรือศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน จัด “SEAC Talks Forum : Essential Skills for Thai Workforce 2021” ซึ่งเป็นการเสวนาร่วมกันของ 3 ผู้บริหาร

ได้แก่ “อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC, “อภิชาติ ขันธวิธิ” เจ้าของเพจ HR The Next Gen และ Co-Founder QGEN และ “อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์” Head of People LINE MAN Wongnai เกี่ยวกับการยกระดับศักยภาพคน สังคม และธุรกิจไทย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายครั้งใหม่ในโลกที่เรียกว่า VUCA World

องค์กรไทยใช้เงิน 1% พัฒนาคน

“อริญญา” กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้หลายองค์กรไม่สามารถต้านทานผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้วางระบบภูมิคุ้มกันไว้ เช่น การทรานส์ฟอร์มองค์กร และการเสริมทักษะใหม่ ๆ ให้บุคลากร เพื่อให้องค์กรมีรากฐานมั่นคง และสามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

อริญญา เถลิงศรี
คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC

“โลกที่ไม่แน่นอน หรือ VUCA World (V-volatility ความผันผวน, U-uncertainty ความไม่แน่นอน, C-complexity ความซับซ้อน, A-ambiguity ความคลุมเครือไม่ชัดเจน) หลังเกิดโควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราต่อไป องค์กรและคนที่ทำงานแบบเดิมคงไม่สามารถเล่นทันเกมและบริบทของโลกยุคนี้ได้”

ดังนั้น การส่งเสริมบุคลากรให้มีแนวคิดเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning mindset) ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจมากที่สุด ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกของ McKinsey พบว่า กว่า 87% ของผู้บริหารระดับสูงกว่าทั่วโลกมองว่าองค์กรตัวเองยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องคนยังมีช่องว่างอยู่มาก นอกจากนั้นการศึกษาวิจัยของ PwC ระบุว่า องค์กรที่ต้องการทรานส์ฟอร์มและสร้างนวัตกรรมต้องเพิ่มทักษะคนในองค์กรอีก 3 เท่าถึงจะเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

ทำให้องค์กรใหญ่ ๆ ในโลกต่างจริงจังและลงทุนเงินก้อนโตกับการเพิ่มทักษะคน เช่น J.P. Morgan ใช้เงินถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อยกระดับคนในองค์กร, เบื้องหลังความสำเร็จของ Amazon คือ ลงทุน 700 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนาอัพสกิลคนจำนวนแสนคน และ IBM ใช้เวลา 20 ชั่วโมงเพื่อเทรนคนให้เข้าใจลึกซึ้งในเรื่องเทคโนโลยี แต่ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยใช้เงินเพียง 1% ของกำไรในการพัฒนาคนในองค์กรเท่านั้น

ทักษะสำคัญ 2021

“อริญญา” อธิบายว่า ทักษะสำคัญ (essential skills) ที่คนในองค์กรไทยต้องมีในปี 2021 หลัก ๆ คือ 4 ข้อ ได้แก่

1.การสร้างให้คนทั้งองค์กรมีทักษะเรื่องการปรับตัว (adaptability) ให้สามารถทำงานในรูปแบบใหม่ เวทีใหม่ การแข่งขันใหม่ อีกทั้งมีความปราดเปรียวมากขึ้น ไม่ยึดติดการทำงานเรื่องแบบเดิม ๆ

2.แก้ปัญหาและตัดสินใจแบบใหม่ต้องมองในมิติใหม่ ๆ

3.เป็นผู้นำ (leader) ไม่สำคัญเท่ากับมีความเป็นผู้นำ (leadership) ในพนักงานทุกคน มีความรับผิดชอบและพร้อมทำงานกับคนหลากหลายสไตล์ได้

4.ทุกคนในองค์กรต้องเข้าใจเทคโนโลยี เครื่องมือ และข้อมูล แล้วนำมาใช้ได้จริง

“เรื่องพัฒนาคนไม่ใช่หน้าที่ของฝ่าย HR อย่างเดียว แต่หัวหน้าของทีมต้องเข้าใจเรื่องงานและการเปลี่ยนแปลงของเนื้องาน ต้องรู้ว่าในทีมต้องโฟกัสอะไรเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ส่วนองค์กรต้องสร้างวิธีการเรียนรู้ให้กับพนักงาน และผู้นำต้องเก่งเรื่องคน โดยต้องใกล้ชิดกับพนักงานมากขึ้น ทั้งในและนอกองค์กร ต้องมี EQ ในการบริหารงานและเรื่องส่วนตัวให้ได้”

5 ความท้าทายใหม่

“อริญญา” บอกว่า การทำงานในปี 2021 จะเปลี่ยนแปลงจากอดีตชัดเจน เพราะเริ่มมีคนรุ่น Gen Z เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่หยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อรูปแบบการทำงาน ดังนั้น เพื่อให้องค์กรสามารถเตรียมปรับรูปแบบการทำงานกับความท้าทายใหม่ องค์กรต้องเข้าใจ 5 เรื่องที่สำคัญดังนี้

1.cross-gen workforce สถานที่ทำงานจะมีคนทำงาน 4 เจเนอเรชั่นทำงานร่วมกัน การเพิ่มเจนใหม่เข้ามาร่วมทำงาน และนับเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อโลกธุรกิจยุคใหม่ ตอนนี้คน Gen Z เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว พวกเขากลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัย ที่อยู่แวดล้อมที่แตกต่าง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และชอบความท้าทาย

นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายองค์กรว่าต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้ เพราะวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ จะไม่สามารถใช้กับ Gen Z ได้ ดังนั้น องค์กรต้องเร่งปรับรูปแบบการทำงาน วิธีการสื่อสารที่จะตอบโจทย์การทำงาน เพื่อให้คนทั้ง 4 เจเนอเรชั่นสามารถทำงานด้วยกันและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2.remote work หลายองค์กรหันมาทำงานแบบทางไกล (ไม่ต้องอยู่ในสำนักงาน) มากขึ้น ดังนั้น โจทย์ขององค์กรในอนาคต คือ ต้องทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างคนและองค์กร และหารูปแบบการประเมินการปฏิบัติงานใหม่ รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการกลุ่มคนที่ทำงานจากต่างสถานที่กัน

3.communication ปรับการสื่อสารภายในองค์กรอย่างจริงจัง องค์กรต้องเน้นสื่อสารให้ถี่ขึ้น ต่อเนื่องมากขึ้นและโจทย์สำคัญ คือ องค์กรจะสื่อสารกับคนในองค์กรอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ สามารถแย่งชิงเนื้อหา ข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่ปริมาณต่อวันเยอะมาก ๆ ได้ รวมทั้งทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการเนื้อหาที่สั้น กระชับ ตรงประเด็นและถี่มากที่สุด รวมถึงมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

4.work life integration การผสมผสานชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเข้าด้วยกัน คนต้องเริ่มเปลี่ยนไมนด์เซตใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้งานและชีวิตสามารถเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งกว่า 80% ขององค์กรระดับโลกให้ความสนใจทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ใช้ช่วงเวลากลางวันในการติดต่อประสานงานกับลูกค้า ประชุมกับเพื่อนร่วมงานและไปรับส่งลูก จากนั้นใช้ช่วงเวลากลางคืนในการเคลียร์งานในส่วนของเรา เป็นต้น

5.reskill และ upskill องค์กรส่วนใหญ่เริ่มทรานส์ฟอร์มองค์กรและคนอีกครั้งผ่านการวาง roadmap ที่ชัดเจนว่าพนักงานแต่ละคน แต่ละแผนกจะต้องอัพสกิลเรื่องอะไรบ้าง รีสกิลเรื่องอะไรบ้าง และสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ เรื่องของ soft skills และ mindset เพื่อที่จะไปตอบบทบาทและหน้าที่การทำงานของแต่ละคนมากขึ้น

ความท้าทายใน VUCA World

“อภิชาติ” กล่าวว่า ตอนนี้เรื่อง speed เป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ ทุกองค์กรต้องปรับตัวอยู่เสมอ และปัจจัยที่จะทำให้องค์กรแข่งขันบนเวทีการค้าได้ คือ “คน” ถึงแม้ว่าองค์กรจะลงทุนเรื่องเทคโนโลยีและพัฒนาสินค้าดี ๆ แต่ถ้าวางระบบคนไม่ดีหรือไม่ได้เลือกคนที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น คงไม่สามารถดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของการทำงานในองค์กรให้ออกมาได้ เมื่อคนเก่งขึ้น องค์กรจะแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

อภิชาติ ขันธวิธิ
อภิชาติ ขันธวิธิ เจ้าของเพจ HR The Next Gen และ Co-Founder QGEN

“ในโลก VUCA เราต้องผสานกลยุทธ์ขององค์กรเข้ากับสิ่งที่คนในองค์กรต้องการ โดยต้องทำให้เชื่อมโยงกัน พร้อมกับต้องมีความเร็วและปลูกฝังแนวคิด eager to learn (กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้) พนักงานรู้ว่าต้องทำอะไร และเรียนรู้อะไรก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนองค์กรที่ไปต่อไม่ได้คือองค์กรที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน”

โมเดล 70 : 20 : 10

“อานนทวงศ์” กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจและบริหารคนต่างเจเนอเรชั่นให้ทำงานร่วมกัน และเป็นหนึ่งในองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานมากที่สุด คือ ต้องมี agile หรือกระบวนการที่จะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น โดยลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านเอกสารลง รวมถึงมีความยืดหยุ่นและมี growth mindset (กรอบความคิดแบบพัฒนาได้) กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าล้มเหลว เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น

อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์
อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ Head of People LINE MAN Wongnai

“ยุคนี้เป็นยุคที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ คนทำงานต้องปรับตัวเร็ว คนที่มี growth mindset จะสามารถพาองค์กรไปต่อได้ แต่ผู้บริหารต้องมีความชัดเจนด้วยว่า ต้องการทำอะไร ลูกน้องถึงจะสร้างเส้นทางเดินได้ถูกต้อง แล้วพอถึงทางตัน ก็ต้องมองหาอะไรใหม่”

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นทุกอย่างของธุรกิจมาจากคน ถ้าองค์กรมองคนเป็นแค่ทรัพยากรก็จะปฏิบัติต่อเขาอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้ามองคนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราจะปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นเพื่อนกัน เป็นพี่น้องที่มีความต้องการและความเจ็บปวดเหมือนกับเรา

การที่จะเป็นองค์กรที่คนอยากทำงานด้วย และคงอยู่กับเรานาน ๆ องค์กรต้องให้ความสำคัญในการบริหารคน เซตค่านิยมองค์กร (core value) ที่ชัดเจน และหาคนในองค์กรให้ชัดเจน ต้องมีการปรับเปลี่ยนทักษะใหม่ ๆ ตลอดเวลาตามโมเดล 70 : 20 : 10

หมายถึง 70% challenging assignments การเรียนรู้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติงาน, 20% developmental relationships การเรียนรู้จากผู้อื่นด้วยกิจกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการเข้ากลุ่ม การมีโค้ชหรือพี่เลี้ยง การเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน และ 10% coursework and training การพัฒนาความรู้และทักษะจากหลักสูตรฝึกอบรม การสัมมนาต่าง ๆ หรือการศึกษาจากหนังสือ


นับว่าหลายองค์กรต้องให้ความสนใจกับการยกระดับศักยภาพคนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งติดตั้งวิธีคิดแบบ lifelong learning mindset เพื่อให้คนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนเกิดการขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถฝ่าฟันของโลกแห่งความไม่แน่นอนได้