มหา’ลัยไม่ตอบโจทย์ เยาวชนออกล่าฝันผันตัวเป็นซีอีโอ

ในยุคโควิด-19 ระบาด อัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง โซเชียลมีเดียเฟื่องฟู และการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังมีผลทำให้เทรนด์การศึกษาเปลี่ยนไปหลายด้าน โดยเฉพาะเมื่อเด็กรุ่นใหม่บางส่วนมองว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

“รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” ที่ปรึกษาบริหาร สำนักประธานกรรมการบริหารรพ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อดีตนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญงาน HR และการพัฒนาภาวะผู้นำที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลทำให้จำนวนของผู้สมัครเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยภาพรวมจากระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า ทีแคสในปี 2564 มีเด็กสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพียง 1 แสนกว่าคน ลดลงจากปี 2563 ที่มีเด็กจำนวน 2 แสนกว่าคน และ 3 แสนกว่าคนในปี 2562

“สังเกตได้ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัย ไม่สนใจเป็นลูกจ้าง แต่อยากเป็นเจ้าของกิจการ และมีอาชีพอิสระมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้ปกครองหลายครอบครัวก็ไม่เห็นด้วย เกรงว่าลูกหลานจะมีความรู้และประสบการณ์ไม่พอ”

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

คำถามจึงเกิดขึ้นว่าเป็นเพราะเหตุใด ? ทำไมเด็กถึงไม่อยากเรียน ?

“รศ.ดร.ศิริยุพา” บอกว่า น่าจะมาจากเหตุผลหลัก ๆ 4 ข้อ คือ

หนึ่ง วัยรุ่นทั่วโลกเห็นตัวอย่างของมหาเศรษฐีติดอันดับโลกหลายคนที่ไม่จบมหาวิทยาลัย แต่เป็นเจ้าของธุรกิจมูลค่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน อย่างเช่น เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก,
สตีฟ จ็อบส์ เป็นต้น

“ส่วนในไทยก็มีคุณตัน ภาสกรนที CEO ชาเขียวยี่ห้อดัง อิชิตัน, คุณอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, คุณธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินซูเปอร์สตาร์ และอีกหลาย ๆ ท่านที่เป็นบุคคลผู้ประสบความสำเร็จและมีฐานะมั่งคั่ง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่คิดว่าพวกเขาก็น่าจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน”

สอง การศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และนายจ้างได้ดีเท่าที่ควร เด็กจบมหาวิทยาลัยแล้วยังไม่พร้อมทำงาน ก็จะสื่อสาร และแก้ปัญหาให้ลูกค้าไม่ได้ คิดวิเคราะห์เองไม่เป็น ต้องให้หัวหน้าสั่งทำให้นายจ้างต้องเสียเวลาฝึกอบรมงานให้อีก 3-6 เดือน กว่าจะทำงานได้

สาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เราสามารถค้นคว้าเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา

สี่ สังคม และองค์การนายจ้างในประเทศไทย เริ่มให้ความสำคัญกับใบปริญญาน้อยลง แต่สนใจความสามารถในการทำงานจริงมากกว่า ยกเว้นวิชาชีพบางสาขาที่จำเป็นต้องเรียน และฝึกฝนในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้มาตรฐาน เช่น แพทยศาสตร์, พยาบาล, นักกฎหมาย, ผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น

ถ้าถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องจบมหาวิทยาลัยจึงจะหางานดี ๆ ได้ และมีรายได้ดี ดิฉันมองว่าสำหรับงานในบางสาขาอาชีพก็จำเป็นตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว แต่หลาย ๆ สาขาอาชีพก็ไม่จำเป็น มีคนที่ไม่จบมหาวิทยาลัยมากมาย แต่ก็มีงานดี ๆ ทำ มีนายจ้างแย่งตัวไปทำงาน

หลายคนไม่ชอบเป็นลูกจ้างประจำก็เป็นเจ้าของกิจการไปเลย หรือเป็นมืออาชีพรับจ้างอิสระ แต่การที่ไม่สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้หมายความว่าเราหยุดเรียนรู้ได้ แล้วจะสามารถหางานดี ๆ ทำ และมีรายได้ดี ๆ ดิฉันมองว่ายิ่งไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยยิ่งต้องขวนขวายแสวงหาความรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา

“ตัวอย่างที่ดี ที่ดิฉันเคยพบด้วยตนเองคือ ดร.เจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ท่านไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย แต่ท่านเรียนรู้ตลอดเวลา แม้ว่าท่านจะมีอายุมากแล้ว ก็ยังเชิญผู้รู้ และนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศไปพูดคุย นำเสนอข้อมูลใหม่ ๆ ให้ท่านได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ”

“รศ.ดร.ศิริยุพา” กล่าวต่อว่า ถ้ามีผู้ปกครองมาปรึกษาว่ามีลูกที่ไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัย อยากทำงานหารายได้เลย ดิฉันก็จะบอกเขาไปว่าให้ลูกคิดใคร่ครวญให้ดีว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไรในชีวิต เพราะถ้าตัดสินใจเลือกไม่เรียนมหาวิทยาลัย แล้วต่อมาหากเปลี่ยนใจอยากทำอาชีพที่ต้องมีปริญญา ถึงจะแก้ปัญหาด้วยการไปเรียนภายหลังได้แต่ก็ต้องเสียเวลา

ถ้ามั่นใจว่าไม่อยากได้ปริญญาตรีแน่ ก็ต้องคิดวางแผนกับลูกว่าสิ่งที่ลูกอยากจะทำเป็นอาชีพนั้นต้องมีความรู้ทักษะอะไรบ้าง สามารถไปสมัครงานกับนายจ้างแล้วไปเรียนรู้จากที่ทำงานได้ไหม

ยกตัวอย่างเช่น อยากเป็นเชฟที่มีชื่อเสียง แล้วอยากเป็นเจ้าของร้านอาหารแบบนี้ไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ แต่ควรเข้าคอร์สสั้น ๆ เรียนการทำอาหารเบื้องต้นก่อน จะได้มีพื้นฐานจับมีด หั่นเนื้อ หั่นผักให้เป็น จากนั้นไปสมัครงานเป็นลูกมือเชฟตามภัตตาคารหรือโรงแรมเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

ในเวลาเดียวกันก็หมั่นเรียนรู้เองจาก YouTube บ้าง เข้าคอร์สสั้น ๆ บ้าง เพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ จนเชี่ยวชาญ แล้วอาจไปสมัครประกวดทำอาหารตามรายการต่าง ๆ เพื่อล่ารางวัลสร้างชื่อเสียง พอคิดจะเปิดร้านเป็นของตนเอง ก็ควรหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตเรื่องหลักการบริหารธุรกิจขนาดย่อม การบริหารร้านอาหาร หรือไปเรียนคอร์สสั้น ๆ ที่มีขายอยู่มากมายในปัจจุบัน เวลาเปิดร้านจะได้บริหารธุรกิจเป็น ไม่ใช่ทำอาหารเก่งเท่านั้น”

“รศ.ดร.ศิริยุพา” กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ในตลาดแรงงานของดิฉัน และจากการติดตามข้อมูลเรื่องทักษะแรงงานปี 2022 พึงมี จากหลายแหล่ง เช่น สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) องค์การแรงงานหว่างประเทศ (ILO) และสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เป็นต้น

จึงขอสรุปเป็นมุมมองของตัวเองว่า ต้องพูด อ่าน เขียนภาษาประจำชาติของตนได้ดี พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษระดับใช้งานได้ มีทักษะทางคณิตศาตร์เบื้องต้น คิดร้อยละ ต้นทุน กำไรเป็น ทำบัญชีเบื้องต้นเป็น รู้หลักสถิติเบื้องต้น ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานเป็น หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและใช้โซเชียลมีเดียเป็น

จริง ๆ แล้วหากมีทักษะในการพูด อ่าน เขียนภาษาไทยคล่อง คิดเลขได้บ้าง รู้ภาษาอังกฤษบ้าง หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเป็น ก็จะสามารถเรียนรู้ทักษะทั้งหมดนั้นได้ด้วยตนเอง โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อเท่านั้นคือ ต้องขยันมุ่งมั่น และมีมือถือ หรือคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ปัญหาสำคัญคือนิสัยเด็กไทยไม่ค่อยขวนขวายหาความรู้เอง ต้องให้ครูคอยป้อนให้ แม้จะจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่จบแบบคะแนนแค่ผ่าน ไม่หมั่นเรียนรู้เพิ่มเติมก็จะไปไม่ได้ไกลเหมือนกัน

มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือถ้าศึกษาประวัติมหาเศรษฐีที่ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยก็จริง แต่พวกเขาเป็นคนขยันหมั่นเรียนรู้ และอดทน อีกอย่างคือเขาส่งลูกหลานของพวกเขาเรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ กัน แปลว่ามหาเศรษฐีเหล่านี้เห็นคุณค่าของการศึกษาในมหาวิทยาลัยดี ๆ

ดิฉันคิดว่าถ้ามีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยที่ดี ก็เรียนเถิด เพราะช่วยทุ่นแรงในการแสวงหาความรู้เอง ไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง ทั้งยังช่วยเปิดโอกาสหลาย ๆ อย่าง เช่น มีเพื่อน มีสังคมที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในการทำงานทำธุรกิจ

แต่ถ้าไม่มีทุนทรัพย์หรือไม่มีศรัทธาในมหาวิทยาลัย ชอบเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ก็ให้วางแผนการหาความรู้สร้างทักษะเพื่อประกอบอาชีพของตนเองให้ดี ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ส่วนอาชีพที่ทำรายได้ดี โดยไม่ต้องมีปริญญามีมากมายทีเดียว ส่วนมากเป็นอาชีพที่อิงเทคโนโลยีดิจิทัล

เช่น นักการตลาดออนไลน์, นักออกแบบเว็บไซต์, นักออกแบบกราฟิก, สตรีมเมอร์, ยูทูบเบอร์, บล็อกเกอร์, นักเขียนคอนเทนต์, ขายสินค้าออนไลน์, เชฟทำอาหาร, ทำขนม, เจ้าของธุรกิจเสริมความงาม, ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มดีลิเวอรี่, นักออกแบบแฟชั่น, อาชีพในวงการบันเทิง, นักพยากรณ์ศาสตร์ เป็นต้น”

ผลตรงนี้ “รศ.ดร.ศิริยุพา” จึงอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า ให้ขยัน มีวินัย หมั่นเรียนรู้จากทุกช่องทาง เช่น จากการทำงาน, จากอินเทอร์เน็ต, จากผู้รู้ และสร้างสัมพันธภาพเครือข่ายให้รู้จักคนมาก ๆ ทั้งยังต้องเข้มแข็งอดทนไม่ท้อถอยง่าย, ล้มแล้วลุกไว, ทำงานอย่าเน้นที่เงินเป็นหลัก ให้เน้นที่คุณภาพ และผลงานก่อน แล้วเงินจะตามมาในที่สุด