สุดปัง ! งานหนังสือ 2566 บูทมติชน คนอ่านล้นหลาม ไฮไลต์ 10 เล่มขายดี

บูทมติชน

นับเป็นปรากฏการณ์ที่ดีของวงการหนังสือ เมื่อความสำเร็จมาเยือนอีกครั้ง หลังโควิด-19 ผ่านพ้น โดยกลุ่มนักอ่านทุกเพศทุกวัยได้หวนกลับมาร่วมสร้างสีสัน ทำให้บรรยากาศ Book Fair งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 คึกคักต่อเนื่อง จนทำให้พื้นที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ภายในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดูแคบไปทันที

อุตสาหกรรมหนังสือผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

งานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายน 2566 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานได้ ตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป จนถึง 24.00 น.

ซึ่งปีนี้พิเศษกว่าทุกปี โดยทดลองเป็นปีแรก ในการเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืนใน 3 วันแรกของการจัดงาน (30 มีนาคม-1 เมษายน) จากนั้นก็เปิด-ปิดปกติ คือเวลา 10.00-21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 2-9 เมษายน ปรากฏว่า คนให้ความสนใจ ไม่ต่างกับการเปิดมิดไนต์เซลของห้างยักษ์

สถิติล่าสุด 30 มีนาคม-5 เมษายน เฉลี่ยต่อวันมีผู้เข้าร่วมงาน 103,332 คน เสาร์ที่ 1 เมษายน ยอดทะลักถึง 198,139 คน อาทิตย์ที่ 2 เมษายน ยอดรวม 141,242 คน งานนี้ BEM ผู้บริหารรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT แฮปปี้

จากข้อมูลแบบสอบถามผู้ร่วมงานในปีก่อน ๆ พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงาน ต่างต้องการให้งานสัปดาห์หนังสือฯ ขยายเวลาปิดมากกว่า 3 ทุ่ม เพราะข้อจำกัดของการเดินทางในเมืองและเวลางานเลิก

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) คาดการณ์รายได้ปีนี้ประมาณ 350-400 ล้านบาท จำนวนผู้เข้าร่วมงาน 1.5 ล้านคน ตลอดการจัดงาน 11 วัน เติบโต 15% จากปีก่อน ขณะที่ปีที่แล้วมีผู้เข้าชมงานตลอด 12 วัน กว่า 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ จากแบบสอบถามผู้ร่วมงานจำนวน 3,000 คนในครั้งก่อน กว่า 70% มีการใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 บาท และ 60% มีอายุไม่เกิน 28 ปี ซึ่งการใช้จ่ายขึ้นอยู่กับช่วงวัยและรายได้

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนที่มางานสัปดาห์หนังสือฯ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กมัธยม นิสิต-นักศึกษามหาวิทยาลัย และวัยเริ่มทำงานตามลำดับ จากนั้นมีการกลับมาอ่านมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น

และปีนี้มีสำนักพิมพ์เข้าร่วม 333 ราย กว่า 905 บูท โดยสำนักพิมพ์คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ที่เหลือเป็นบูทส่วนงานราชการ และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การเขียน และภาษา

ในงานแบ่งเป็น 7 โซน 7 หมวด ได้แก่ หนังสือเด็กและการศึกษา, หนังสือต่างประเทศ, หนังสือเก่า, หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น (Book Wonderland), หนังสือนิยายและวรรณกรรม, หนังสือนิยายวาย (Wonder Y) และหนังสือทั่วไป

พิเศษปีนี้เพื่อตอบรับกระแสและอุตสาหกรรม Y ในไทยได้มีการเพิ่มโซนหนังสือนิยายวายขึ้นมา เพื่อให้คนรักนิยายวายได้มารวมอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ กิจกรรมแนะนำหนังสือใหม่ เวทีเสวนาและการพบปะนักเขียน นักวาดทั้งไทยและต่างประเทศ

จากปัญหาอุตสาหกรรมหนังสือที่เคยได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่น และพฤติกรรมที่แปรเปลี่ยนของผู้คนกับสื่อออนไลน์นั้น มาถึงวันนี้อุตสาหกรรมหนังสือเริ่มฟื้น หลังยุคโควิดผ่านพ้น สังเกตจากสัญญาณเมื่อปลายปีที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ (Book Expo) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตัวเลขต่าง ๆ ดีดขึ้นมาก จึงเชื่อว่า อุตสาหกรรมหนังสือผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ

สำนักพิมพ์มติชน บูท M49 คนทะลัก

ที่น่าสนใจ ปีนี้ “สำนักพิมพ์มติชน” ได้ผนึกกำลังกับ “ไข่แมว” จัดแคมเปญสร้างจุดขาย “Matichon X ไข่แมว” ที่บูท M49 ด้วย ภายใต้ธีม “BOOKSELECTION” ถ่ายทอดเส้นสีแสบสันล้อไปกับการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้ง 2566 ผ่านงานศิลปะผสมอารมณ์ขันหยิกแกมหยอกที่ถูกออกแบบอยู่ภายในบูท รวมทั้งของพรีเมี่ยมและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของสำนักพิมพ์

ทั้งนำเสนอพลังของการอ่านกับการเมือง และประเด็นทางสังคมในหลากหลายแง่มุม กับหนังสือของสำนักพิมพ์มติชน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ รัฐสวัสดิการ การเมือง ไสยศาสตร์-ทุนนิยม เมืองในฝัน ผู้นำ ชนชั้น อำนาจ จิตวิทยา-แรงบันดาลใจ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ และสุขภาพ ตอบโจทย์ผู้อ่านทุกไลฟ์สไตล์อย่างรอบด้าน

ทำให้บูท M49 ของสำนักพิมพ์มติชนประสบความสำเร็จมาก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 โดยมีการจัดกิจกรรมเสวนา 4 เวทีด้วย เช่น “sundogs : Science Odyssey ปรากฏการณ์หนีตามวิทยาศาสตร์” โดย นําชัย ชีววิวรรธน์ และ ชยภัทร อาชีวระงับโรค ในวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 17.00-18.00 น.

“ภาพจริง-ภาพจำ เบื้องหลังอำนาจ เลิกทาสไท(ย)” โดย ญาณินี ไพทยวัฒน์ วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566 เวลา 12.00-13.00 น. “อ่านอินเดียในโลกบริติชราช” โดย สุภัตรา ภูมิประภาส และ สมฤทธิ์ ลือชัย วันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2566 เวลา 12.00-13.00 น. และ “เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์และทุนนิยมในโลกสมัยใหม่” โดย Peter Jackson วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 เวลา 13.00-14.00 น.

สำคัญไปกว่านั้นเพราะการอ่านและความรู้เป็นเรื่องสนุก ! Matichon X ไข่แมว 2023 จึงมาในรูปแบบที่สนุกสนาน หลากสีสัน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ความสนุกสนานของการอ่านและความรู้จะพาเราไปได้ไกลกว่านั้นเสมอ นั่นคือสังคมที่เราวาดหวัง ตลอดจนวันที่การเมืองและการอ่านล้วนเป็นสิ่งที่เรา “เลือกได้”

…เพราะเสรีภาพในการเลือกอ่านหนังสือ สัมพันธ์กับเรื่องการเมืองเสมอ

ด้วยร่วมสร้างปรากฏการณ์สนุก ๆ ในบทสนทนาสุดเสียดสีที่พร้อมจะพานักอ่านกระโดดออกจากกฎ ทะลุออกจากกรอบ ลุกมาตั้งคำถามต่อสังคมและการเมืองที่เรา (ต้อง) เลือกได้ และยืนยันพลังของเสรีภาพในการ “เลือกอ่าน” ไปพร้อมกัน ทำให้งานสัปดาห์หนังสือฯปีนี้มีสีสันและสร้างสรรค์ขึ้นเรื่อย ๆ

เปิด 10 อันดับหนังสือขายดี

จากสถิติข้อมูลการจัดลำดับหนังสือขายดีของงานสัปดาห์หนังสือฯรอบนี้ สรุปว่า ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-5 เมษายน 2566 หนังสือเรื่อง “โลกนี้ไม่มีใครที่ไร้ค่า” (ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจลำดับที่ 35) ผู้เขียน : หนุ่มเมืองจันท์ ได้ครองแชมป์หนังสือขายดีเกือบทุกวัน จะมีเพียงวันแรกคือ 30 มีนาคม ที่หนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” ซึ่งพิมพ์ครั้งที่ 14 ฉบับปรับปรุงใหม่ โดยผู้เขียน : คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซิวแชมป์หนังสือขายดีวันแรก

นอกจากนั้นจะเป็นหนังสือที่ครองอันดับสลับกัน อาทิ Capitalism Magic Thailand : Modernity with Enchantment เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน(ไทย)นิยม ผู้เขียน : Peter A. Jackson/ผู้แปล : วิราวรรณ, Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก ผู้เขียน : ปริพนธ์ นำพบสันติ, The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เขียน : รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช,

แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ประวัติศาสตร์ กรณีศึกษา และเส้นทางการต่อสู้สู่รัฐสวัสดิการ ผู้เขียน : ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี, Transform or Die : ปฏิรูปกองทัพไทย ผู้เขียน : สุรชาติ บำรุงสุข, นเรศวรนิพนธ์ : การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง ผู้เขียน : ปิยวัฒน์ สีแตงสุก,

สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2) ผู้เขียน : เสถียร จันทิมาธร, เป็นจีนเพราะรู้สึก : ประวัติศาสตร์เสื่อผืนหมอนใบที่เพิ่งสร้าง ผู้เขียน : สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ และ ในกำแพงแก้ว ผู้เขียน : ธงทอง จันทรางศุ

จากหนังสือใหม่ที่น่าสนใจ ภายในบูททั้งหมด 26 ปกด้วยกัน