ประชาชาติบุ๊กคลับ : ในประวัติศาสตร์มีคำถาม ?

สาโรจน์ มณีรัตน์

ผ่านมาครึ่งทางแล้วสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 21 เพราะงานวันสุดท้ายจะปิดฉากลงในวันที่ 9 เมษายน 2566 ซึ่งทราบข่าวว่าตลอดเวลาของการจัดงานสัปดาห์หนังสือฯ หลายสำนักพิมพ์ต่างปลาบปลื้ม เพราะยอดขายหนังสือเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ทุกประการ

อาจมีบางสำนักพิมพ์อาจทะลุเกินกว่าเป้าที่ตั้งใจไว้อีกด้วย

ยังไงก็ดีใจกับทุกๆสำนักพิมพ์ด้วยครับ

สำหรับสำนักพิมพ์มติชนทราบข่าวว่าตลอดเวลาของการเปิดงานตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม จนถึงวันที่ 4 เมษายน(ขณะปิดต้นฉบับ)ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เช่นกัน มีบ้างบางวันอาจทะลุเป้าเสียด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดีว่าปีนี้สำนักพิมพ์มติชนมีหนังสือออกใหม่ทั้งหมด 26 ปกด้วยกัน

โดยมี 1 ใน 5 เล่มเป็นหนังสือไฮไลต์ อาทิ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ผู้เขียนคือคริส เบเคอร์ และผาสุก พงศ์ไพจิตร,ทาสไท(ย) : อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ ผู้เขียนคือญาณินี ไพทยวัฒน์,แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ประวัติศาสตร์ กรณีศึกษา และเส้นทางการต่อสู้สู่รัฐสวัสดิการ ผู้เขียนคือษษฐรัมย์ ธรรมบุษดี,The Last Mughal เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง ผู้เขียนคือ William Dalrymple ส่วนผู้แปลคือสุภัตรา ภูมิประภาส

นอกจากนั้น ยังมีหนังสือชุดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกหลายเล่ม อาทิ ในกำแพงแก้ว ผู้เขียนคือธงทอง จันทรางศุ,นเรศวรนิพนธ์ : การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง ผู้เขียนคือปิยวัฒน์ สีแตงสุก,Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์ ผู้เขียนคือกำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่,เขตคลองมองเมือง ผู้เขียนคือบัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช และโบราณคดีกรุงธนบุรี ผู้เขียนคือกรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์

ทุกเรื่องล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น และน่าหาซื้อเก็บไว้อย่างยิ่ง

เพียงแต่ในที่นี้ขออนุญาตหยิบยกมาเล่าเพียง 3 เล่ม เริ่มต้นจากเล่มแรกคือนเรศวรนิพนธ์ : การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง ซึ่ง”อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล”เขียนไว้ในคำนำเสนอบางส่วนอย่างน่าสนใจว่าจุดหมายเริ่มแรกของงานเขียนเล่มนี้อาจไม่มีเจตจำนงมุ่งท้าทายความคิด ความเชื่อของนิยามวิชาประวัติศาสตร์นี้ก็เป็นได้ แต่ผลการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นงานที่แหวกแนวไปจากสำนักคิดความจริงดำรงอยู่

โดยศึกษาถึงการสร้างความจริง ซึ่งคือการสร้างพระนเรศวร กล่าวคือหนังสือเล่มนี้สำรวจวิเคราะห์การสร้างภาพ การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระนเรศวร จึงมีนัยให้เรามานิยามแก่นแท้ของวิชาประวัติศาสตร์กันใหม่

นอกจากนั้น “อาจารย์ไชยันต์” ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าหนังสือเล่มนี้ยังถือเป็นงานที่น่าชื่นใจอย่างยิ่ง มิเฉพาะสำหรับนักประวัติศาสตร์เท่านั้น หากยังหมายถึงวงวิชาการทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์สายเพื่อนบ้านอีกด้วย เพราะเรื่องราวที่สร้างสรรค์ปั้นขึ้นเกี่ยวกับพระนเรศวรนั้น เข้าข่ายที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตำนานมายาคติ

ดูตัวอย่างพระนเรศวรหลงเข้าไปในวงล้อมของกองทหารพม่า แล้วท้าพระมหาอุปราชมาชนช้างกันนั้น จะชวนเฉลียวใจกันหรือไม่ว่า พระมหาอุปราชมีเหตุจูงใจอะไรที่จะต้องมาเสี่ยงชนช้างด้วย ในเมื่อพระนเรศวรก็ตกอยู่ในวงล้อมอยู่แล้ว ทั้งนี้ยังไม่ต้องถามต่อไปว่าพระนเรศวรท้าชนช้างด้วยภาษาอะไร พระนเรศวรสามารถสื่อด้วยภาษาพม่าอย่างเก่งกาจถึงขนาดปราศรัยในเรื่องเป็นเรื่องตายเช่นนี้เชียวหรือ

คำถามจึงเกิดขึ้นว่าพระนเรศวรเป็นนักรบผู้เก่งกาจจริงหรือไม่ ?

ส่วนอีกเล่มคือ “ในกำแพงแก้ว” เล่มนี้เคยพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2531 พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2550 จนมาถึงปี 2566 สำนักพิมพ์มติชนจึงจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 ซึ่ง”อาจารย์ธงทอง”เขียนเล่าไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ว่าชอบอ่านนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเรียกว่าเป็นแฟนแม่พลอยมาแต่เก่าก่อนก็เห็นจะเป็นได้

ครั้นต่อมาเมื่ออายุมากขึ้น โดยหน้าที่การงานทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปแลเห็นรั้ววังที่ตัวละครทั้งหลายในเรื่องสี่แผ่นดินได้เคยอยู่ เคยอาศัย ตำหนักรักษาต่างๆที่เคยมีเจ้านายปกครองดูแลยังมีอยู่เกือบพร้อมมูล จะขาดสาระสำคัญส่วนหนึ่งไปคือเสียงพูดจาหัวร่อต่อกระซิก หรือเสียงร่ำไห้ปริเทวนาการของผู้ทรงเป็นเจ้าของเรือน และผู้คนบริวารเท่านั้น

นอกจากนั้น”อาจารย์ธงทอง”ยังกล่าวในคำนำพิมพ์ครั้ง 3 บอกว่าประโยชน์อย่างหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ รวมตลอดถึงเรื่องบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในอดีตคือการนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนสอนใจ หรือเป็นข้อคิดสำหรับตัวเรา เพื่อใช้เป็นต้นทุนเมื่อต้องพบกับความสุข หรือความทุกข์ อันเป็นธรรมดาในชีวิตว่าเราจะประคับประคองจิตใจของเราให้ผ่านช่วงเวลาต่างๆไปได้ด้วยสติ และปัญญาอย่างไร

“ผมหวังว่าหนังสือในกำแพงแก้วเล่มนี้ นอกจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว จะสามารถทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้ตามสมควร”

สำหรับเล่มต่อไปที่อยากแนะนำคือ”Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์”โดยเบื้องต้น”อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์”เขียนถึงในคำนิยมบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามที่น่ายกย่องในการมองหาวิถีชีวิตของคนในสมัยอยุธยา แม้คนที่เน้นศึกษาจะเป็นคนต่างชาติหลากภาษา อันเป็นประวัติศาสตร์สามัญชน สังคม และเศรษฐกิจการค้า และเมืองท่าธรรมดาเท่านั้น

หากอีกด้านหนึ่งก็คือมนุษย์อยุธยาโดยรวมที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ 1)ชุมชนต่างชาติที่เป็นชาวอุษาคเนย์ หรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 2)ชุมชนต่างชาติที่มาจากข้างทิศตะวันออก หรือชาวเอเซียตะวันออก และ 3)ชุมชนต่างชาติที่มาจากข้างทิศตะวันตก

ดังนั้น ถ้าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้สนุกยิ่งขึ้น”อาจารย์ธำรงศักดิ์”บอกว่าควรต้องหมั่นดูแผนที่อยุธยาถึงที่ตั้งวัด และสถานที่ต่างๆประกอบด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพทางภูมิศาสตร์ที่จะช่วยให้เราจินตนาการ และสร้างความเข้าใจต่อชุมชนต่างๆรอบเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยาได้ดียิ่งขึ้น

ผมว่า”อาจารย์ธำรงศักดิ์”พูดถูกอย่างยิ่ง และถ้าจะให้สนุกมากกว่านี้ ผมอยากแนะนำให้ไปหาอ่านหนังสือ”โบราณคดีกรุงธนบุรี”ที่มี”กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์”เป็นผู้เขียนเพิ่มเติม เพราะจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพต่อเนื่อง และเชื่อมโยงจากกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงกรุงธนบุรีในที่สุด

สนุกทั้งสองเล่มล่ะครับ

และก็มีสรรค์สาระทุกเล่มดังที่ผมกล่าวมา

อย่าลืมไปหาซื้อนะครับที่บูธ M 49 สำนักพิมพ์มติชน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันนี้ – 9 เมษายน 2566