11 สาขา ซอฟต์พาวเวอร์ กางโรดแมปสร้าง “พลังละมุน” สู่เวทีโลก

ชุมพล แจ้งไพร-หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล-จรัญ หอมเทียนทอง
ชุมพล แจ้งไพร-หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล-จรัญ หอมเทียนทอง

ดั่งที่ทุกคนทราบดี รัฐบาลภายใต้การนำของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก

โดยมี “นายเศรษฐา” เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และมี “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” เป็นรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งผลจากการประชุมเมื่อไม่นานผ่านมา มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และอนุมัติงบประมาณในแต่ละโครงการ กิจกรรม และอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยทั้ง 11 สาขา

อาทิ อุตสาหกรรมเฟสติวัล 1,009 ล้านบาท, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 711 ล้านบาท, สาขาอาหาร 1,000 ล้านบาท, สาขาศิลปะไทย 380 ล้านบาท, สาขาออกแบบ 310 ล้านบาท, สาขากีฬา 500 ล้านบาท, สาขาดนตรี 144 ล้านบาท, สาขาหนังสือ 69 ล้านบาท, สาขาภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ 545 ล้านบาท, สาขาแฟชั่น 268 ล้านบาท และสาขาเกมพัฒนาหลักสูตร 374 ล้านบาท

ผลเช่นนี้ จึงทำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์แต่ละสาขา จึงวางโรดแมปเพื่อขับเคลื่อน “พลังละมุน” ในการสร้างสรรค์ และเพิ่มมูลค่าสินค้าของไทยไปสู่นานาประเทศตามแผนปฏิบัติการอย่างเร่งรัด (Quick Win)

สาขาอาหารชู 5 โครงการหลัก

นายชุมพล แจ้งไพร กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาอาหาร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยเสร็จเรียบร้อย แบ่งเป็นแผนงานระยะเวลา 1 ปี และแผนงานระยะเวลา 4 ปี เพื่อเตรียมนำเสนอของบประมาณที่จะดำเนินการ สำหรับแผนปี 2567 วงเงิน 200 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 โครงการหลัก ตั้งเป้า Quick Win 100 วันแรก เริ่มลงมือปฏิบัติแผนงานทันทีตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยกำหนดกรอบเวลาโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ประกอบด้วย

1.โครงการสร้างเชฟมืออาชีพ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ซึ่งเป็นหลักสูตรเข้มข้น 240 ชั่วโมง รวมเวลาฝึกงาน 3-6 เดือน ในร้านอาหารและโรงแรม ปี 2567 ตั้งเป้ามีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 10,000 คน, ปี 2568 จำนวน 20,000 คน, ปี 2569 จำนวน 20,000 คน และปี 2570 จำนวน 25,000 คน ตามลำดับ

ADVERTISMENT

2.เปิดคอร์สเรียนออนไลน์อาหารไทยทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน จำนวน 99 เมนู รองรับผู้เรียน 20-30 ล้านคน 3.โครงการ Thai Food Channel ผลิตสื่อคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วโลกรู้จักอาหารไทย 4.โครงการเปิดร้านค้าออนไลน์ (Online Shopping Channel) 5.ร้านอาหารเชฟชุมชน จำนวน 100 ร้านค้า

อุตฯเกมตีปีกพร้อมโกอินเตอร์

นายเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ในฐานะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์สาขาเกมพัฒนาหลักสูตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้การของบประมาณ 374 ล้านบาท สำหรับ 7 โครงการในอุตสาหกรรมเกม และอีสปอร์ตจะดูเหมือนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาด 3.8 หมื่นล้านบาท แต่ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะผ่านมาไม่เคยได้รับการสนับสนุนลักษณะนี้มาก่อน

ADVERTISMENT

“ในฝั่งอีสปอร์ตของบฯ 120 ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง Nation Stadium หรือในโครงการ Quick Win จะมีโครงการเล็ก ๆ สนับสนุนการไปออกงานเอ็กซ์โปในต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้พัฒนาเกม แคแร็กเตอร์ และอื่น ๆ ที่ไปโชว์ผลงานในต่างประเทศไม่ค่อยมีทุน บางคนไปเพราะประกวดชนะ แต่ไม่สามารถออกบูทโชว์ได้ ซึ่งการไปออกงานอีเวนต์ใหญ่ ๆ เป็นการสนับสนุนการส่งออกทางหนึ่ง”

“ส่วนในฝั่งเกม และซอฟต์แวร์ของบฯตั้งกองทุนเกม 200 ล้านบาท หากได้มาจะต้องตั้งกรรมการกองทุน ตั้งเงื่อนไข เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหรือนักพัฒนา เรามองว่า 1 ปี มีคนขอทุนเข้ามา 15-20 โครงการ หากมีเพียง 1 โครงการสำเร็จเป็น IP Hero ส่งออกได้ คนในอุตสาหกรรมเกมจะรู้ว่าแค่นั้นก็คุ้มทุน 200 ล้านบาทแล้ว”

ภาพยนตร์แบ่ง 10 ส่วนย่อยอวดชาวโลก

“หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล” กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาภาพยนตร์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับงบประมาณ 545 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 10 ส่วนย่อย คือ หนึ่ง 48.2 ล้านบาท นำไปสนับสนุนภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ และแอนิเมชั่นไทยไปเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ รวมถึงค่าที่พัก และตั๋วเครื่องบิน, สอง 350 ล้านบาท สนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ ในลักษณะ Coproduction Funds เพื่อสร้างตลาดใหม่ ๆ ให้กับงานบางประเภทที่หาชมไม่ได้ในไทย, สาม 50 ล้านบาท สำหรับจัดงาน Expo แสดงศักยภาพของผู้ผลิต นักแสดง คอนเทนต์ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งแบบ B2C และ B2B, สี่ 20 ล้านบาท สนับสนุนงานประกาศรางวัลทั้งละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์, ห้า 20 ล้านบาท สนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศไทย

หก 10 ล้านบาท สำหรับเตรียมจัดเทศกาลภาพยนตร์ของประเทศ, เจ็ด 10 ล้านบาท สนับสนุนการฉายหนังในมหาวิทยาลัย หนังกลางแปลง หรือการจัดฉายหนังขนาดเล็ก, แปด 15 ล้านบาท ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ไทย ในสื่อต่างประเทศ, เก้า 2 ล้านบาท สนับสนุนและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ที่จะไปเป็นตัวแทนชิงรางวัลออสการ์ และ สิบ 20 ล้านบาท สำหรับอัพสกิล-รีสกิล เพื่อพัฒนาบุคลากรในวงการ

สาขากีฬาชู “มวยไทย” เจาะตลาด ตปท.

ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขากีฬา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป้าประสงค์ของเราอยากสร้างบุคลากรมวยไทย ทั้งนักมวย โค้ช โปรโมเตอร์ ผู้ตัดสิน รวมถึงการสร้างมาตรฐานการแข่งขัน เพื่อให้มวยไทยแพร่หลายออกไปต่างประเทศมากที่สุด และทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้

“ผมไปอังกฤษมา ปรากฏว่ามีค่ายมวยไทยถึง 6,000 ค่าย ดังนั้น ถ้าเราผลิตครูมวย แล้วจ้างเขาไปสอนให้กับตำรวจ และทหารของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ก็จะทำให้พวกเขามีรายได้ เพราะมวยไทยดังอยู่แล้ว ตอนนี้ผมกำลังคุยกับหน่วยงานรัฐว่าเราจะเข้าไปได้อย่างไร รวมถึงโรงเรียนในต่างประเทศด้วย อย่างที่ฟินแลนด์ มีการนำมวยไทยไปสอนในโรงเรียนระดับมัธยมแล้ว ผมจึงมองว่าตรงนี้เป็นโอกาสของเรา”

เร่งจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ

นายจรัญ หอมเทียนทอง กรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาหนังสือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับระยะแรกจะดำเนินการจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ ด้วยการเชิญชวนทุกห่วงโซ่อุปทานของการผลิตหนังสือทั้งหมดเข้ามาเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT), บรรณาธิการ, นักเขียน, นักแปล, นักวาดภาพประกอบ และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหนังสือ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองในการผลักดันธุรกิจหนังสือไปสู่ต่างประเทศ

“ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีสถาบันหนังสือแห่งชาติ แต่ในต่างประเทศมีมานานแล้ว ทั้งยังมีหลายสถาบันเข้ามาเปิดดำเนินการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านศิลปะทุกแขนงในประเทศไทย ผมจึงมีความคิดว่าถ้าเราจัดตั้งสถาบันสำเร็จก็จะดำเนินการเผยแพร่องค์ความรู้ และแปลงานวรรณกรรมไทยทุกสาขาไปอวดโฉมต่อนักอ่านทั่วโลก”

“นายจรัญ” กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องเร่งด่วนภายใน 6 เดือน คือการเข้าไปพูดคุยกับทีมงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงและพัฒนาหอสมุดเมืองกรุงเทพ บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ให้เป็น Book Landmarks เพื่อให้นักอ่านชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการ พร้อม ๆ กับพัฒนาเป็นจุดเช็กอินเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกถ่ายรูปเพื่อแชร์ไปยังประเทศของตน

“ตอนนี้เริ่มคุยกับรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ศานนท์ หวังสร้างบุญ) บ้างแล้ว เพื่อรีโนเวตอาคารหอสมุดเมืองกรุงเทพ พร้อมกับพัฒนาซอฟต์แวร์ และระบบการสืบค้นเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น นอกจากนั้น เราจะหาหนังสือไทยและเทศเข้าไปเติมหอสมุดเพิ่มมากขึ้น คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท เพราะเราต้องการให้ที่นี่เป็นต้นแบบห้องสมุดของแต่ละจังหวัด ทั้งยังตั้งเป้าหมายว่าหากแล้วเสร็จเมื่อใด คาดว่า 3 เดือนแรก น่าจะมีนักอ่านชาวไทย-เทศ และนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาใช้บริการมากกว่า 1 แสนคน”

ส่วนงบประมาณที่เหลืออีก 19 ล้านบาท คณะกรรมการมีการพูดคุยกันว่า จะนำเงินจำนวน 16 ล้านบาท ไปสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 ราวเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ราวเดือนตุลาคม 2567 โดยแบ่งเป็นงานละ 8 ล้านบาท ขณะที่อีก 3 ล้านบาท จะเชิญชวนนักเขียนซีไรท์ และนักเขียนที่มีชื่อเสียง รวมถึงสำนักพิมพ์ต่าง ๆ พร้อมกับตัวแทนคณะกรรมการ และตัวแทนจาก PUBAT ไปออกบูท และร่วมงานไทเป บุ๊กแฟร์ ประเทศไต้หวัน ซึ่งจะมีขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อขายลิขสิทธิ์ผลงานของนักเขียนไทย อย่างน้อยให้ได้สัก 20 เล่ม เพื่อแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกัน เรามีความคาดหวังว่าน่าจะมีผู้อ่านมาเยี่ยมชมบูทของเราตลอด 5 วันของการจัดงานประมาณ 2 หมื่นคน

สาขาท่องเที่ยวมุ่งสู่ความยั่งยืน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี กรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เรามีแผนสนับสนุนสาขาอื่นด้วย โดยหลัก ๆ ประกอบด้วย โครงการด้านการทำการตลาด 2-3 โครงการ อาทิ โครงการเชิญชวนนักท่องเที่ยว, โครงการด้านการพัฒนา และโครงการสื่อสารเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ โดยเน้นการใช้อินฟลูเอนเซอร์ (JOL) ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ประกอบด้วย เรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านดาต้า และดิจิทัล รวมถึงเรื่อง Green Tourism เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านความยั่งยืนของประเทศ

“ในส่วนของท่องเที่ยวนั้น ส่วนตัวขอให้ข้อมูลคร่าว ๆ ก่อน เพราะที่เราเสนอไปนั้นยังไม่ได้งบประมาณ เพราะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง สำนักงบฯ สภาพัฒน์ คิดว่าคณะกรรมการคงต้องดูรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง เราจึงไม่อยากพูดก่อนที่จะได้งบประมาณ”