
ด้วยนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ “แพทองธาร ชินวัตร” รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย
เพราะมั่นใจว่า จะเป็นเครื่องมือช่วยสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าทั้งทางตรงทางอ้อมให้แก่สินค้าและบริการ ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศบนเวทีโลก พร้อมอนุมัติงบประมาณกิจกรรมไว้ 11 สาขา ที่ต้องวางโรดแมปเร่งขับเคลื่อนพลังเพื่อการสร้างสรรค์สู่นานาประเทศตามแผนอย่างรวดเร็วให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
งานแรกของบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์หนังสือ
ภารกิจแรกของคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์หนังสือ ที่มี “จรัญ หอมเทียนทอง” เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ ประกอบด้วย ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์, เจน สงสมพันธ์, ถนัดวิทย์ โรจน์พจนรัตน์, ธีรภัทร์ เจริญสุข, ณัฎฐ์ธรณ์ ทวีมงคลสวัสดิ์, คำหอม ศรีนอก, ดวงพร สุทธิสมบูรณ์ และพรทิพย์ งามพร้อมพันธุ์ เลขานุการ ได้เดินทางไปร่วมงาน Taipei International Book Exhibition 2024 (TIBE 2024) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ เมืองไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นงานหนังสือที่ใหญ่สุดของเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก
โดยมีเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศรับเชิญเกียรติยศ (Guest of Honor) เพราะไต้หวันและเนเธอร์แลนด์ ร่วมฉลองครบรอบ 400 ปีแห่งความสัมพันธ์ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่มาร่วมกิจกรรมงานหนังสือ
งาน TIBE 2024 จัดโดย Taipei Book Fair Foundation เป็นหน่วยงานที่จัดงานหนังสือและส่งเสริมกิจกรรมด้านหนังสือของประเทศไต้หวัน หรือเรียกว่า งานหนังสือนานาชาติไทเป 2024 ภายใต้การประสานงานของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

“จรัญ หอมเทียนทอง” กล่าวว่า งานนี้ถือเป็นศูนย์กลางการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ ที่มาพร้อมกับการจัดงานแสดงผลงานหนังสือที่มีขนาดใหญ่ โดยมี “ไช่ อิงเหวิน” ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน เธอได้เดินชมบูทหนังสือ และเลือกซื้อหนังสือที่ชอบติดมือกลับบ้านด้วย แสดงถึงความเป็นนักอ่านและความเป็นผู้นำในนามรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหนังสือและสิ่งพิมพ์
ลักษณะการจัดงานเหมือนกับงานสัปดาห์หนังสือในบ้านเราที่เปิดให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ มาร่วมออกบูท เป็นความร่วมมือระดับประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความรู้ การสร้างสรรค์ และมีกิจกรรมร่วมกัน เป็นงานพบปะของกลุ่มนักเขียน นักวาด และนักอ่านหรือพวกหนอนหนังสือที่ชื่นชอบตัวอักษรผ่านกระดาษ ทำให้ Thai Pavilion ซึ่งเป็นโซนจัดแสดงผลงานจากประเทศไทยมีบรรยากาศที่คึกคักตามไปด้วย

นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นงานแรกของบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ด้านหนังสือที่ได้ร่วมงานระดับนานาชาติ โดยมี THACCA-Thailand Creative Culture Agency เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ ทำให้การออกบูทหนังสือของประเทศไทยในปี 2567 ดูยิ่งใหญ่ โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ทำให้งานสำเร็จบรรลุเป้าหมาย และสนับสนุน PUBAT มาตลอด
เวทีใหญ่ของนักเขียนไทยสู่สากล
สำหรับบูทของประเทศไทย มีประมาณ 10 คูหา รวมพื้นที่ใช้สอย 90 ตารางเมตร งานนี้กำหนดธีมว่า Borderless หรือไร้พรมแดน ซึ่งได้รับความสนใจจากคนไต้หวันมาก โดยหนังสือทั้งหมดได้รับการแปลเรื่องย่อเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน
พร้อมนำเสนอในแค็ตตาล็อกการซื้อขายลิขสิทธิ์ โดยมีกลุ่มนักเขียน นักวาดภาพประกอบคนไทย มาร่วมจัดพบปะผู้ร่วมงาน ท่ามกลางบรรยากาศอย่างเป็นกันเอง ซึ่งมีหนังสือประมาณร้อยกว่าเล่มจากนักเขียนอิสระประมาณ 40 คน และสำนักพิมพ์อีก 24 แห่ง ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
ที่น่าสนใจ งานหนังสือใหญ่ครั้งนี้มีการจับคู่ธุรกิจเป็นครั้งแรก เป็น Business Matching ระหว่างสำนักพิมพ์ของไต้หวันกับประเทศไทย ที่จะมีโอกาสจูนกันในเรื่องของลิขสิทธิ์เพื่อการต่อยอดของนักเขียนไทยที่จะได้มีช่องทางนำงานเขียนไปสู่ตลาดสากลมากขึ้น
ถือเป็นสัญญาณบวกของอุตสาหกรรมหนังสือและสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิยายซีรีส์วายจะเป็นที่ชื่นชอบของชาวไต้หวันมาก พอ ๆ กับงานหนังสือเรื่องการเมืองไทยที่คนรุ่นใหม่ชาวไต้หวันให้ความสนใจเป็นพิเศษ
“ช่วงที่อยู่ไทเปได้พบนักเขียน นักวาดภาพ นายสะอาดได้มอบหนังสือ ‘2475 นักเขียนแห่งสยาม’ มาให้อ่าน อ่านจบรู้สึกว่า ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ชีวิตอาจขาดอะไรไปสักอย่าง หนังสือเล่าเรื่องเป็นนิยายภาพทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นกึ่งนิยายที่ดี บางตอนน่าจะเอาความคิดมาจากหนังสือเบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 ของศรีบูรพา
อยากแนะนำให้เด็กรุ่นใหม่อ่าน เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ สนุก ดำเนินเรื่องผ่านนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนหญิง ภาพเขียนในเล่มสวยงามไม่แพ้การ์ตูนญี่ปุ่น ต้องขอบคุณนายสะอาดอีกครั้ง ที่ทำให้การไปไทเปครั้งนี้ มีความสุขมากขึ้น หลังฟังเสวนาของนายสะอาด กับคุณคำหอม ศรีนอก ก็มีนักอ่านไทเปหลายท่านสนใจและตั้งคำถาม บางคนถึงขนาดจดโน้ต เป็นที่น่าสังเกตว่า คนหนุ่มสาวไทเปสนใจการเมืองประเทศไทย”
จบงานหนังสือที่ไทเปแล้วก็ต่อด้วยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ปีนี้จะมีความแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกท่านจะสามารถสัมผัสได้ เมื่อมาเยี่ยมชมงานสัปดาห์หนังสือในครั้งนี้
จากนั้นเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องร่วมกันผลักดันคือ การพัฒนาหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครที่สี่แยกคอกวัว ให้เป็น Book Land Mark ของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่จะนำไปใช้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และสุดท้ายเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดของคณะกรรมการชุดนี้
คือ การสร้าง “สถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติ” ที่ “มกุฏ อรฤดี” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และได้รับรางวัลในแวดวงหนังสือมากมาย เคยเป็นหินก้อนแรกมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่ายที่เป็นห่วงโซ่ของหนังสือ
เตรียมพบกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
สำหรับสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานหนังสือครั้งแรกของปีนี้กำลังจะกลับมาพบกับกลุ่มคนอ่านกันอีกครั้งเหมือนทุกปี แต่ปีนี้จะพิเศษกว่าทุกครั้ง
เพราะมีไอเดียดี ๆ จากทีมขายหัวเราะ ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนขำขันถูกจริตคนไทยมานานถึง 50 ปี จะมาร่วมดีไซน์โปสเตอร์ให้ดูโดดเด่นเตะตา ภายใต้ธีม “Booklympics”
แล้วพบกันในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 วันแรกช็อปได้ตั้งแต่ 12.00-21.00 น. หลังจากนั้นเปิดเวลา 10.00-21.00 น. ของทุกวันตลอดการจัดงาน