อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน ‘เจ้าแม่ทิฟฟานี่’ ซอฟต์พาวเวอร์พันล้าน

อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน
อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน

คุณจ๋า-อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน บุตรสาวคุณสุธรรม (ถึงแก่กรรม) และ คุณอรวรรณ พันธุศักดิ์ เป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2 แห่งโรงละครทิฟฟานี่โชว์ พัทยา ซอฟต์พาวเวอร์หนึ่งเดียวของพัทยา เมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่นักเดินทางทั่วโลกต่างรู้จัก

แต่ละปีจะมีชาวต่างชาติหลั่งไหลเดินทางมาปักหมุด เพื่อดูโชว์ของสาว ๆ ทรานส์เจนเดอร์ (คนข้ามเพศ) ที่มีอินเนอร์ในด้านการแสดงอย่างวิจิตรตระการตา

นอกจากความบันเทิง ความสนุกสนานในรูปแบบอินเตอร์แล้ว โชว์พิเศษของคนกลุ่มนี้ยังสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยนับพันล้านบาท

ฉลอง 50 ปี หลังโควิดธุรกิจดีขึ้น

อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา จำกัด และประธานคณะกรรมการจัดการกองประกวด Miss Tiffany’s Universe และ Miss International Queen Pageant ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2568 เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปี โรงละครทิฟฟานี่โชว์ เราจะเปลี่ยนโชว์ใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนทุกอย่างทั้งชุด เพลง กรูมมิ่งนักแสดง เป็นโชว์ที่บอกเล่าเรื่องราวอัตลักษณ์ ทำไมเรามาถึงจุดนี้ รวมถึงความเชื่อมั่น ความเป็นตัวตน คาดว่าโชว์ใหม่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

ตั้งแต่หลังโควิด ธุรกิจดีขึ้นตลอด ถือเป็นช่วงขาขึ้นของตลาดท่องเที่ยว เราถูกหยุดมานาน ทุกคนอยากเที่ยว อยากเดินทาง ขณะนี้เราเปิดการแสดงตามปกติแล้ว 3 รอบต่อวัน โดยปรับเปลี่ยนการทำเพลงและปรับโชว์ใหม่

ยอมรับว่าเศรษฐกิจภาพรวมดูซึม ๆ ซึ่งเป็นกันทั่วโลก แต่ผู้คนก็ยังเดินทางท่องเที่ยวฮีลใจ ประเทศไทยการท่องเที่ยวยังไปได้ ระยะยาวจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์

ADVERTISMENT

อย่างช่วงนี้ก็ชะงักไปบ้าง หลังมีข่าวด้านความปลอดภัย นักท่องเที่ยวจะกังวลกับเรื่องเหล่านี้ ภาครัฐและเอกชน รวมถึงเราทุกคนต้องสร้างความมั่นใจ แล้วจะยั่งยืน

ที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐ และมหาวิทยาลัยสนใจมาทำวิจัยเรื่องความสำเร็จของธุรกิจโชว์ทรานส์เจนเดอร์ ซึ่งถือเป็นความรู้ เป็นวิทยาทาน เนื่องจากปีนี้กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากผลักดันกันมานาน

ADVERTISMENT

“ต้องขอบคุณคุณพ่อที่มีวิสัยทัศน์ให้ทั้งโอกาสและยอมรับเรื่องเพศที่หลากหลาย โดยให้จ๋ามาสานต่อในเรื่องความเท่าเทียมทางสังคม จากวันนั้นถึงวันนี้ ทุกอย่างเป็นจริงแล้ว”

ขยายธุรกิจ-ร้านอาหารสไตล์ใหม่ ๆ

นอกจากธุรกิจเวทีนางงาม โรงละครแล้ว บริษัท ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา จำกัด ยังมีธุรกิจโรงแรม Woodlands Hotel & Resort ในเมืองพัทยา และร้านอาหาร คาเฟ่ อาทิ ร้านลาบาแกตต์ (La-Baguette), ร้านลา เฟม (La Ferme), ร้านอาหารไทยมาเช่ และกำลังจะเปิดร้านอาหารใหม่สไตล์คาเฟ่เพิ่มอีกในเร็ว ๆ นี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัว

“อลิสา” กล่าวว่า การทำธุรกิจเวทีประกวด ถือว่าไม่ขาดทุนตัวเอง เพราะได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างโรงละครทิฟฟานี่โชว์ให้เป็นประโยชน์ทุกด้าน

จริง ๆ เราไม่ได้คิดเรื่องกำไรขาดทุนเลย แม้บางครั้งเคยขาดทุนบ้าง แต่อย่างที่คุณพ่อเคยบอกไว้ “ทุกอย่างคือการเรียนรู้”

ซึ่งเวทีมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน เราทำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 เพราะเราเคยส่งต่อนางงามไปประกวดที่สหรัฐอเมริกา แล้วเมื่อได้รางวัลมาก็ไม่ได้มีการต่อยอดอะไร จึงคิดว่าทำเองดีกว่า พร้อมกับต่อยอดธุรกิจของเราไปด้วย ซึ่งจะช่วยดึงคนเข้ามาในประเทศเรา เมื่อเราทำแล้วกระแสตอบรับดี มีลูกค้าต่างชาติที่จองตั๋วข้ามปีมาดูทุกปี ได้ออกสื่อต่างประเทศมากมาย

“ตอนนี้เราขายลิขสิทธิ์กระจายไปแล้ว 5 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น อเมริกา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ”

ยิ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะยิ่งเข้ามามากขึ้น กลุ่มลูกค้า แฟนคลับ LGBTQ+ อยากมาชมทิฟฟานี่ แล้วพากลุ่มเพื่อนมาเยอะมาก เขามาหาเราเหมือนเป็นบ้านเขา เพราะรู้สึกมีความสุข และสบายใจ

นักท่องเที่ยวเหล่านี้ชื่นชมประเทศไทย และคนไทยว่าเป็นคนใจดี เราไม่มีการแสดงออกทางกายที่ไม่ดี ไม่มีการบูลลี่ ไทยเป็นประเทศที่คนกลุ่มนี้ชื่นชอบ

เปรียบเหมือนเป็นมารดาของกลุ่ม LGBTQ+ ที่คนกลุ่มนี้มีอยู่ในทุกการบริการ มีอยู่ในทุกที่ การเดินทางก็สะดวก เรื่องอาหารการกินมี 24 ชั่วโมง อยากมาจับจ่ายตอนไหน เที่ยวเวลาไหนก็ได้หมด ซึ่งดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง แล้วกลุ่มคนเหล่านี้มีทุกระดับ ถือว่าเป็นการกระจายรายได้และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดี

“เราทำธุรกิจด้วยความรัก อยากทำสิ่งนี้จึงทำ ถ้าไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งที่รักเลยจะไม่ทำ ถ้าทำแล้วก็ต้องดีกับครอบครัว ดีกับสังคม ดีกับประเทศ ต้องส่งเสริมให้มีความมั่นคง ธุรกิจนี้เหมาะกับจริตเราจึงต้องทำให้ดี ถ้าไม่ดีก็ไม่อยากทำ”

“ทุกวันนี้จ๋ามีความสุขมาก ได้ทำหน้าที่ของผู้บริหาร ทำธุรกิจที่สานต่อจากคุณพ่อได้ดีระดับหนึ่ง ส่วนชีวิตส่วนตัว จ๋าสมรสกับคุณอั๋น-ดร.ภูวนาท คุนผลิน มีลูกชายแล้ว 2 คน คือ น้องพอลและน้องพีท แฮปปี้มากค่ะ”

ตลาดนางโชว์กับใจที่เปิดกว้าง

“อลิสา” กล่าวอีกว่า การส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น จะสำเร็จได้ก็ต้องมีใจที่เปิดกว้างของครอบครัว รวมถึงการหล่อหลอม เลี้ยงดู จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาทำเวทีการประกวดสาวทรานส์ฯเวทีแรกให้ประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1988 มีคุณพ่อเป็นผู้บุกเบิก บริหารโรงละครทิฟฟานี่โชว์ ที่พัทยา โดยมีอาจารย์เสรี วงษ์มณฑา ช่วยทำการตลาดให้ เราอยากให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักโรงละครทิฟฟานี่โชว์ จึงเริ่มทำเวทีประกวดอยู่ในโรงละคร มีการขายบัตรให้เข้าชม

เมื่อจ๋าอายุ 23 ปี คุณพ่อก็ให้มาช่วยงานที่โรงละคร และเริ่มเข้ามาทำการตลาด เพราะอยากให้คนรู้จัก เราเลยซื้อเวลาช่องทีวีเพื่อถ่ายทอด ทำงานกับสปอนเซอร์ ดูเรื่องภาพลักษณ์ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เราถ่ายทอดการประกวดที่ช่องไอทีวี คนมาดูที่โรงละครทิฟฟานี่เยอะมาก ๆ เยอะจนตอนนั้น จ๋าต้องไปยืนขายตั๋ว เพราะเราอยากรู้ว่า เราต้องแก้ไข ปรับปรุงอะไรบ้าง คืออยู่หน้างานตลอด สมัยนั้นคนจะจำได้ว่า เห็นจ๋าไปยืนขายตั๋วหัวฟูเลย (หัวเราะ)

กล่าวถึงแนวคิดแรกเริ่ม ทำไมถึงทำโรงละครทิฟฟานี่โชว์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่มากในขณะนั้น ?

“อลิสา” เล่าว่า คุณพ่อเป็นคนเข้าใจคน มีวิธีคิด เข้าใจภาพลักษณ์ และทัศนคติของคนในอดีตที่ไม่เข้าใจในเรื่องของทรานส์เจนเดอร์ ไม่เข้าใจทั้งเรื่องความสามารถ คุณพ่ออยู่ในวงการโรงแรมและการท่องเที่ยวมาตลอด เห็นอะไรมาเยอะ

ยิ่งทำงานด้าน HR ต้องดูแลคน บริหารคนในโรงแรม ทำงานด้านการเงินควบคู่ไปด้วย คุณพ่อจึงเห็นว่า การที่มีคนทำงาน สร้างรายได้ให้องค์กร เราก็ต้องดูแลรักษาไว้เหมือนเป็นทรัพย์สินขององค์กร

การมาทำโรงละครทิฟฟานี่ เป็นการจับพลัดจับผลูมาทำ เพราะเริ่มแรกทำโรงละครให้คนอื่นเช่า แต่ต้องมาทำเอง เพราะคุณอาอั้งตี๋ (วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน) ที่ริเริ่มทำทิฟฟานี่โชว์ ท่านบอกว่า ทำโรงละครไม่เป็น อยากจะเลิก

คุณพ่อเลยบอกว่า อย่าทิ้งเด็ก ๆ เลย มีเด็กพนักงานอยู่ 30 กว่าคน พวกเขาจะไปไหนทำอะไรได้ เพราะสมัยนั้นทรานส์เจนเดอร์ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะลอยแพคน เมื่อไม่มีอาชีพพวกเขาจะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ยังไง

สุดท้ายคุณพ่อจึงรับไว้ มาบริหารแทน ถือเป็นดวงของท่านทั้งสอง ที่ขาดใครไปไม่ได้ คนหนึ่งทำโปรดักชั่น อีกคนทำการตลาดและบริหาร เหมือนงานศิลปะที่จะขายได้ก็ต้องมีสองส่วนนี้ช่วยกัน

“อคติเหล่านั้นก็เบาบางลง เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ ต้องมีการโชว์ในภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ทำให้คนรู้สึกว่า เพศที่ 3 ต้องกรี๊ดกร๊าด หรือเป็นคนที่ต้องตลก หรือต้องทำตัวเด่นตลอดเวลา ไม่ใช่แบบนั้น”

“ดังนั้น การประกวดจะทำให้เราเห็นว่า นางงามมีหลายประเภท เหมือนคนทั่วไป แล้วต่อไปนางงามก็จะเป็นคนที่ส่งเสียงแทนคนเหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ”

คุณพ่อเคยพูดกับจ๋าเสมอ “จ๋าได้เรียนหนังสือ เพราะกะเทยเต้น” ฉะนั้นจ๋าต้องบริหารและดูแลพวกเขาให้ดี อย่างช่วงหนึ่งที่ได้ไปเรียนอยู่ต่างประเทศ เราใช้เงินเยอะ คุณพ่อพูดว่า ใช้เงินเก่งแบบนี้ กะเทยเต้นไม่หยุดแล้ว

คือคุณพ่อมีหลายธุรกิจ แต่ธุรกิจที่เขาภาคภูมิใจคือ มิสทิฟฟานี่โชว์ เขาพยายามพิสูจน์ให้ใครหลาย ๆ คน ทราบว่าเขาทำงานกับคนที่มีความสามารถพิเศษ

การทำทิฟฟานี่โชว์เป็นคนละทางกับธุรกิจอื่น ๆ เพราะธุรกิจอื่น ๆ เป้าหมายคือกำไร แต่อาชีพนี้พิสูจน์ได้ว่า เขาไม่ผิดที่จะทำงานกับทรานส์เจนเดอร์ แต่เป็นเรื่องความภูมิใจสุขใจส่วนตัว

สิ่งนี้ทำให้เราโตมาอย่างเปิดกว้าง จ๋าไม่ได้คิดว่า พวกเขาต่างจากเรา สิ่งที่เขาต่างคือ คนเหล่านี้เป็นซูเปอร์สตาร์ ดูพวกเขาแล้วแฮปปี้ ทำให้เรายิ่งมีแรงผลักดัน ยิ่งทำก็ยิ่งพิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่เราคิดและทำ “ถูกต้องแล้ว”

เราไม่ต้องมองคนอื่น โฟกัสที่ตัวเรา หากมองคนอื่น เราต้องมองด้วยความชื่นชมในสิ่งที่ดีงาม ยินดีที่เขาสำเร็จ โลกนี้สวยงาม โลกนี้ไม่มีแต่การแข่งขัน