คุยเรื่องเทรนด์สตรีตแวร์ กับ “ปิ๊น-อนุพงศ์” สนีกเกอร์เฮดผู้ก่อตั้ง Carnival

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

รองเท้าผ้าใบหรือ “สนีกเกอร์” คือหนึ่งในแฟชั่นยอดฮิตตลอดกาลที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ความนิยมของสินค้าเหล่านี้ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากจำนวนร้านมัลติแบรนด์ที่ผุดขึ้นในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ บวกกับร้านรับพรีออร์เดอร์สินค้าแฟชั่นสตรีตแวร์ตามสื่อโซเชียลมีเดียเองก็ยังได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นเช่นกัน แต่ในบรรดาหลายสิบร้านที่มีอยู่ตอนนี้ ถ้าให้ลองนึกถึงมัลติแบรนด์ครบวงจรร้านแรก ๆ ในไทยแล้วละก็ ชื่อของ Carnival ติดท็อปลิสต์ด้วยแน่นอน

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Carnival ถึงเส้นทางความสำเร็จของร้าน และอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่เขาได้กลายเป็นสนีกเกอร์เฮดอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

เราจะชวนปิ๊นมานั่งพูดคุย-ฉายภาพปรากฏการณ์ความร้อนแรงของแฟชั่นสตรีตแวร์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ว่า อะไรที่ทำให้คนไทยหลงใหลสนีกเกอร์อย่างบ้าคลั่ง และแฟชั่นเหล่านี้จะหายไปกับกาลเวลาเหมือนกับเทรนด์ฮิตอื่น ๆ หรือไม่

Carnival มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กนักเรียนนอกที่ชอบสะสมรองเท้าเหมือนกัน หลังจากที่พวกเขาเรียนจบและกลับมาที่เมืองไทย ปิ๊นซึ่งเรียนจบด้าน e-Commerce ได้ทำงานประจำที่บริษัทยานยนต์แห่งหนึ่ง และคิดว่าอยากเปิดร้านขายรองเท้าเป็นงานอดิเรก จึงชวนเพื่อนอีกสองคนมาลงหุ้นด้วย จากร้านรีเทลเลอร์ที่เลือกขายเฉพาะแบรนด์ Converse เป็นแบรนด์แรก แล้วพัฒนาต่อยอดสู่มัลติแบรนด์สโตร์ครบวงจรที่มีทั้งเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า แอ็กเซสซอรี่ และอุปกรณ์ทำความสะอาดรองเท้า

“ผมมั่นใจว่าเราก้าวนำคนอื่น ผมกล้าพูดได้เพราะว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศไทย” จากกลยุทธ์การเสนอสินค้าผ่านรูปแบบคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลเชิงลึก โปรเจ็กต์การ collaboration ร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ การถ่าย lookbook แฟชั่นเซต ทั้งหมดคือสิ่งที่เขาให้นิยามการทำงานของ Carnival ว่า “creativity”

ปิ๊นบอกว่า การที่แต่ละแบรนด์จะมอบสินค้าแต่ละตัวมาให้ทางร้านขาย แบรนด์ต้องคิดมาแล้วว่า ร้านมีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวของสินค้าที่น่าสนใจ ดึงดูด แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ซึ่ง Carnival ก็ได้รับความไว้วางใจตรงนั้นเสมอ และเร็ว ๆ นี้ Carnival มีแพลนจะขยายสาขาไปตามหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่และภูเก็ต เพื่อรองรับฐานความนิยมสนีกเกอร์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

ปิ๊นเปิดเผยกับเราต่อว่า แม้ระยะหลังจะมีร้านมัลติแบรนด์เพิ่มขึ้น แต่ยอดขายของ Carnival ไม่ได้ลดลง แถมยังกลับพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมด้วย กลุ่มลูกค้าเองก็ขยายตัวด้วยเรนจ์ที่กว้างขึ้น จากเดิมที่มีเพียงลูกค้าผู้ชาย ตอนนี้ลูกค้าผู้หญิงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และจากเดิมที่มีเพียงบรรดาลูกค้าที่เป็น “สนีกเกอร์เฮด” ปัจจุบันมีทั้งชาวต่างชาติ กลุ่มคนที่มากันแบบครอบครัว คนที่เดินผ่านไปมา เรียกว่า สนีกเกอร์และแฟชั่นสตรีตแวร์ไม่ใช่สไตล์เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็น “mainstream” ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเขามองว่า สิ่งที่ทำให้สนีกเกอร์ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะการเกื้อหนุนกันระหว่างแฟชั่นและเทรนด์ออกกำลังกายในขณะนี้

“เมื่อ 10 ปีที่แล้วความนิยมของสนีกเกอร์จะอยู่เฉพาะกลุ่มหรือที่เรียกกันว่า สนีกเกอร์เฮด คือ กลุ่มคนที่ศึกษาเรื่องรองเท้ามาอยู่แล้ว เขารู้ว่าจะซื้ออะไรก่อนที่จะเดินมาถึงร้านด้วยซ้ำ คือมาที่ร้านปุ๊บหยิบรุ่นนี้ได้เลยเพราะดูมาจากในอินเทอร์เน็ตแล้ว จริง ๆ เมื่อก่อนตลาดสนีกเกอร์ก็อยู่ในระดับที่ถือว่าโอเค แต่ค่อนข้างจะเฉพาะกลุ่มหน่อย ส่วนปัจจุบันเทรนด์สนีกเกอร์หรือสตรีตแวร์มันมาพร้อมกับเทรนด์สุขภาพ-การออกกำลังกายอะไรต่าง ๆ จากที่เป็นเฉพาะกลุ่มก็กลายเป็นเมนสตรีม คนส่วนใหญ่เลยหันมาแต่งตัวสนีกเกอร์-สตรีตแฟชั่น ลูกค้าของเรา หรือวงการสนีกเกอร์ตอนนี้กลายเป็นระดับแมสแล้ว ตลาดมันใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น จากที่มีลูกค้าดูจากอินเทอร์เน็ตแล้วมุ่งตรงมาซื้อที่ร้านโดยไม่ต้องเลือกรองเท้า ก็กลายเป็นคนทั่วไปที่เขาไม่จำเป็นต้องดู เขาเดินมาแล้วเห็นของในร้านเรา อันไหนสวยก็ซื้อกลับไป กลายเป็นว่าขายได้ง่ายขึ้น เยอะขึ้น”

ด้วยกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไป ร้านจึงต้องมีการปรับตัวตามกระแสความนิยมด้วยการขยายสาขาไปตามห้างสรรพสินค้า คือเข้าถึงทราฟิกของห้างหรือคนที่อยู่ในย่านนั้น ๆ มากขึ้น กลุ่มลูกค้าแต่ละสาขาก็จะแตกต่างกันออกไป หากเป็นสาขา flagship store อย่างสยามสแควร์ก็จะเป็นกลุ่มสนีกเกอร์เฮดเสียส่วนมาก ส่วนสาขาที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าจะเป็นลูกค้าที่เดินผ่านไปมา เข้ามาลองแล้วรู้สึกชอบก็ซื้อไปเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มคนสะสมรองเท้าเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน แม้ว่าเทรนด์แฟชั่นจะหมุนเวียนไปตามกาลเวลาและยุคสมัย แต่สนีกเกอร์ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะความคล่องตัวและสวมใส่สบาย

ปิ๊นยกตัวอย่างว่า มียุคหนึ่งที่คนที่นิยมใส่รองเท้าหนังหัวแหลมหรือรองเท้าบูต แต่สิ่งเหล่านี้ก็ค่อย ๆ หายไป เพราะตามหลักการจริง ๆ แล้วรองเท้าลักษณะนี้ไม่สามารถสวมใส่ในระยะเวลานานได้ ตรงกันข้ามกับสนีกเกอร์หรือรองเท้าผ้าใบที่มาพร้อมกับการออกกำลังกาย

“เอาง่าย ๆ บริษัทกีฬาอย่าง Nike เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อันดับสอง Hermes อันดับสาม Louis Vuitton มันโชว์ให้เราเห็นว่า Nike เป็นบริษัทสินค้ากีฬา แต่ก็ยังมีมูลค่ามากกว่าแฟชั่นอื่น ๆ เราเลยมองว่า แม้ว่าอีก 5 ปี 10 ปีต่อไปกระแสอาจจะไม่แรงขนาดนี้ มันก็ยังสามารถ maintain ความนิยมต่อไปได้ เพราะสนีกเกอร์มาพร้อมกับความสบาย อะไรที่ใช้งานได้จริง ใช้งานสบายจะอยู่นาน อะไรที่เท่แต่ใส่ได้แป๊บเดียว ร้อน หนัก ก็คงจะอยู่ไม่นาน”

อีกเรื่องที่น่าจะมีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือไลฟ์สไตล์ของคนไทย เขามองว่า ไลฟ์สไตล์รักสวยรักงามของคนไทยมีส่วนสำคัญที่ทำให้วงการสนีกเกอร์มาไกลได้อย่างทุกวันนี้ โดยลองเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ กับเราอย่างสิงคโปร์ที่คนส่วนใหญ่นิยมใส่รองเท้าแตะมากกว่า ส่วนคนไทยให้ความสำคัญกับการแต่งตัวค่อนข้างมาก ไม่ใช่เพียงธุรกิจสนีกเกอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจความสวยความงาม ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นอื่น ๆ เพราะในเรื่องของภาพลักษณ์หรือ appearance ประเทศไทยถือเป็นอันดับต้น ๆ ในเซาท์อีสต์เอเชียเลยก็ว่าได้

แม้ว่ากระแสจะร้อนแรงมากขนาดไหน แต่ปิ๊นบอกว่า ปัจจุบันยังมีคนไทยบางส่วนที่มีความเชื่อความเข้าใจเกี่ยวกับสนีกเกอร์แบบผิด ๆ อยู่หลายข้อเหมือนกัน หลัก ๆ มีอยู่สองเรื่อง คือประเภทของสนีกเกอร์ และสถานที่ผลิตรองเท้า ซึ่งเป็นสองประเด็นหลักที่เราต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น

“สนีกเกอร์มีอยู่สองประเภท ประเภทที่หนึ่งเป็นสนีกเกอร์ไว้เล่นกีฬา คือรองเท้ากีฬา เช่น รองเท้าวิ่ง รองเท้าฟุตบอล อีกประเภท คือสนีกเกอร์แฟชั่น ซึ่งของร้าน Carnival จะเป็นแฟชั่น ฉะนั้นรองเท้าที่เราขายจะไม่สามารถเอาไปออกกำลังกายแบบจริงจังได้ ใช้คำว่าจริงจังเพราะสามารถออกกำลังเบา ๆ ได้ เข้าฟิตเนส เข้ายิมได้ แต่ถ้าคุณจะไปวิ่งมาราธอนเลยมันไม่เหมาะ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการออกกำลังกายอย่างจริงจัง แต่รองเท้าแฟชั่นเหล่านี้จริง ๆ แล้วเขาก็เอารองเท้าวิ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

เนี่ยแหละมาทำ 20 ปีที่แล้วมีคนใส่รองเท้าพวกนี้วิ่งจริง ๆ อย่างรองเท้า Converse All Star หุ้มข้อ เมื่อ 100 ปีก่อน คือรองเท้าสำหรับใส่เล่นบาส ซึ่งตอนนี้กลายเป็นรองเท้าแฟชั่นแล้ว ถามว่าจะมีใครเอาไปใส่เล่นบาสอีกมั้ย ก็ไม่มี เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้รองเท้าใส่แล้วสบายกว่านั้นเยอะ คล้ายกับเทรนด์ของทุกแบรนด์ที่หยิบรองเท้ากีฬาของตัวเองในอดีตที่หมดยุคไปแล้วมาปั้นเป็นสนีกเกอร์แฟชั่นแทน”

ส่วนเรื่องฐานการผลิต ปิ๊นบอกว่า ไม่ว่าจะผลิตในประเทศไหนก็ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของคุณภาพ ยกเว้นเพียงบางรุ่นบางแบรนด์เท่านั้น อย่างเช่น แบรนด์ Converse ที่มีฐานการผลิตหลายแห่ง ทำให้ราคาและคุณภาพสูงต่ำแตกต่างกัน หรืออย่างแบรนด์ New Balance ก็จะมีรุ่นพิเศษที่ผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกา ราคาขายอยู่ราว ๆ หลักหมื่น ด้วยวัสดุและคุณภาพการตัดเย็บที่ดีกว่านั่นเอง

สำหรับก้าวต่อไปในอนาคตของวงการสนีกเกอร์นั้น ปิ๊นคาดการณ์คร่าว ๆ ว่าอาจจะยังไม่มีแฟชั่นแนวอื่นมาแทนที่ได้ เพราะกระทั่งแบรนด์เสื้อผ้าไฮเอนด์ตอนนี้ก็หันมาเจาะตลาดแฟชั่นสตรีตแวร์เหมือนกัน สนีกเกอร์และสตรีตแวร์แฟชั่นจึงน่าจะยังคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง อนาคตอาจจะมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาในรูปแบบที่ต่างออกไป แต่ปิ๊นมองว่า ท้ายที่สุดสตรีตแวร์จะยังคงเป็นรากสู่การพัฒนาเหล่านั้นอยู่ดี