WHA ปั้นนิคมระยอง 36 คลัสเตอร์ลงทุน EV

WHA

WHA เตรียมพื้นที่ 1,281 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 รองรับยักษ์ข้ามชาติ Top 5 ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซัพพลายเชน ดันขึ้นเป็นคลัสเตอร์ลงทุนด้าน EV หลัง “เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซี่ยงไฮ้มอเตอร์ BYD” ปักฐานใน EEC พร้อมพัฒนาเฟส 2 อีก 500 ไร่ เร่งลงทุนทั้งโซลาร์ลอยน้ำ รูฟท็อป ป้อนซื้อขายไฟกันเองในนิคม

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะยกระดับพื้นที่ 1,281 ไร่ ของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็น “คลัสเตอร์”

การลงทุนของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากผู้ผลิตรถ EV Top 5 ของโลกที่อยู่ระหว่างการเจรจา และคาดว่าจะมุ่งเป้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในไม่ช้านี้ เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบเรื่องของพื้นที่ แรงงานฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญ เหนือกว่าคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้าน

รวมถึงการได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ค่อนข้างสูงและจูงใจ

และเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักลงทุนที่กำลังทยอยเข้ามา WHA ได้เตรียมลงทุนโครงการโซลาร์ลอยน้ำ เพื่อป้อนพลังงานไฟฟ้าขายให้กับลูกค้าในนิคม รวมถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์คาร์พาร์ค เพื่อวางโครงการที่จะทำการซื้อขายไฟในนิคมกันเอง ซึ่งก่อนนี้ทำแล้วในบางนิคม ผลิตไฟได้กว่า 20 เมกะวัตต์ (MW)

“ประเทศไทยมีศักยภาพครบทุกอย่างที่จะเป็น Hub EV ปัจจุบันเรามีค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถ EV รายใหญ่มาก ๆ เข้าอยู่ในนิคมของเราอย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) เซี่ยงไฮ้มอเตอร์ที่ผลิต MG และรายล่าสุดคือ BYD เขาก็จะดึงซัพพลายเชนทั้งคลัสเตอร์เข้ามาด้วย

ดังนั้นเราพร้อมทุกอย่างและจะให้นิคมแห่งใหม่นี้ปั้นเป็นคลัสเตอร์การลงทุนของ EV ทั้งหมด มีซัพพลายเชนของ EV ที่นี่ โดย 600 ไร่แรกเป็นของ BYD เฟส 2 อีก 500 ไร่ รองรับซัพพลายเชนที่กำลังจะมาเพิ่มอีก”

สำหรับการลงทุนของบริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BYD ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดิน ซึ่งเป็นดีลครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปีนั้น ถือเป็นสัญญาณความพร้อมและจุดเริ่มต้นแรกที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเป็น Hub EV โดย BYD

จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเเบตเตอรี่ (BEV) เป็นหลัก จะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 กำลังการผลิต 150,000 คัน/ปี เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและยุโรป

โดยในปี 2565 WHA คาดว่าจะมียอดขายที่ดินพื้นที่นิคมทะลุเป้าเป็น 1,650 ไร่ จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 1,240 ไร่ ซึ่งปัจจุบันขายไปแล้ว 1,400 ไร่ พื้นที่ที่เหลืออีกเพียงไม่กี่ร้อยไร่จึงไม่ยาก และแน่นอนว่าจะส่งผลให้มีรายได้มากกว่าปี 2564

หรือมีการเติบโตเป็นตัวเลขถึง 2 หลัก ประมาณ 40% คาดว่าจะมียอดโอนที่เดินภายในปีนี้ หรือต้นปี 2566 ได้ถึง 1,100 ไร่ สำหรับภาพรวมการลงทุน ในจังหวะนี้จะเห็นนักลงทุนจากจีนเข้ามามาก นักลงทุนจากฝั่งอเมริกาเริ่มสนใจไทยมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มกลับมา เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และคอนซูเมอร์

ด้านนายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด (BYD) กล่าวว่า การลงทุน EV ในไทยนั้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ โดยไม่ได้มองเรื่องแข่งขัน และยืนยันว่าไม่ใช่การมาเพื่อสร้างแบรนด์

โดยเป้าหมายหลักคือการผลิต BEV หลังจากที่ผ่านมากว่า 4 ปี ได้ส่งรถแท็กซี่ และบัส EV เข้ามาทดลองวิ่งในตลาดประเทศไทย พบว่าดีมานด์สูงขึ้น ดังนั้นไทยจะไม่ใช่เพียงการผลิตหรือขายเท่านั้น แต่จะเป็นการสร้าง ecosystem ซึ่งในอนาคตคือการดึงเหล่าซัพพลายเชนทั้งคลัสเตอร์มาลงทุนด้วย เช่น แบตเตอรี่ ระบบมอเตอร์ ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์

แต่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของบีโอไอ คือจ้างแรงงาน บุคลากร และมีความเชื่อมโยงกับผู้ผลิตในประเทศ ซึ่ง BYD เองได้แต่งตั้งบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดยทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มสยามกลการ เป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในไทย ตั้งเป้ายอดขายปีแรกกว่า 10,000 คัน