หนี้สาธารณะคิดเป็น 88% ของ GDP ลาว

หนี้สาธารณะ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สปป.ลาวต้องเผชิญปัญหา “ค่าเงินกีบ” อ่อนค่าอย่างหนัก ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะ “น้ำมัน” พุ่งสูงขึ้น กระทบลามสู่ “เงินเฟ้อ” ที่ทะยานขึ้นไปสูงสุดในอาเซียน นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีหนี้สาธารณะที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น

และมีภาระหนี้ที่จะครบชำระต้องจ่ายในปี 2565 อีก 1,140 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เศรษฐกิจ สปป.ลาวอาจจะซ้ำรอยประเทศศรีลังกา

ล่าสุดนายสุลีวัฒน์ สุวรรณจูมคัม (Soulivath Souvannachoumkham) ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายบริหารจัดการหนี้สาธารณะ (Director General of Department of Public Debt Manegement) กระทรวงการเงิน สปป.ลาว ออกมาให้ข้อมูลว่า สภาพเศรษฐกิจลาวนั้น “ไม่ได้ตกต่ำอย่างเช่นในรายงานของสถาบันบางแห่งที่ประเมินโดยใช้ข้อมูลไม่รอบด้าน”

โดยเศรษฐกิจลาว 2-3 ปีที่ผ่านมา ขยายตัว 7-8% และจากผลกระทบโควิด-19 ในปี 2020 ทำให้ลาวสูญเสียรายได้ไปเกือบ 400 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3.5% ของ GDP ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF-World Bank-ADB คาดการณ์ว่า ปี 2020 เศรษฐกิจน่าจะหดตัว แต่ปรากฏในปี 2020 GDP ลาวก็ยังเป็นบวก 3.3% แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของลาวยังเดินต่อได้ แม้ว่าจะมีการล็อกดาวน์ประเทศ

“GDP ลาวในปี 2021 ก็ยังขยายตัว 3.3-3.4% ส่วนปีนี้แม้เศรษฐกิจรีคัฟเวอร์ขึ้นมาเล็กน้อย แต่โควิด-19 ยังอยู่ ทำให้ครึ่งปีแรกเติบโต 3.4% และคาดว่าทั้งปีจะเติบโต 3.4% อยู่ในเรนจ์ที่เป็นบวกและยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าผลข้อขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูง แน่นอนว่า สปป.ลาวได้รับผลกระทบ แต่โดยรวมแล้วการจัดเก็บรายรับของลาวก็ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ล่าสุดการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณปี 2021 สามารถเก็บได้ 102% ของแผน

ส่วนรายจ่ายสามารถจำกัดไม่ให้สูงประมาณ 90% ทำให้การขาดดุลลดลง สภาพการณ์ที่ไม่ปกติและมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามา รัฐบาลเลยเห็นว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการทั้งในด้านเศรษฐกิจ ทางด้านการคลัง และปัญหามหภาคอย่างเข้มงวด” นายสุลีวัฒน์กล่าว

วาระแห่งชาติ

รัฐบาลลาวได้ออกวาระแห่งชาติ (National Agenda) เกี่ยวกับการจัดเก็บรายรับและการประหยัดรายจ่าย เพื่อบริหารจัดการในด้านเศรษฐกิจมหภาคให้ตอบโจทย์ โดยในแผนงบประมาณเดิมขาดดุลงบประมาณสูงถึง 4-6% ของ GDP ซึ่งเป็นความเสี่ยง ดังนั้น ทางรัฐบาลเองก็ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของแผนงบประมาณด้วย

โดยกำหนดแผน 5 ปี (2021-2025) และเสนอสภาเป็นแผนรับรอง ระยะกลาง เป็น Medium term budget plan กำหนดให้การขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 2% ของ GDP เท่านั้น อันนี้เป็นกรอบเฟรมเวิร์กที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ อันที่ 2 จะต้องเร่งจัดเก็บรายรับงบประมาณให้เพิ่มขึ้นสูงและเร็วด้วย

ซึ่งก่อนโควิด-19 ลาวเก็บรายรับอยู่ที่ 16% ของ GDP คาดว่าจะเพิ่มให้ไปถึง 17% ของ GDP ในปี 2025 เป็น Top Piority นอกจากนี้ เรายัง “จำกัด” รายจ่ายไม่ให้เพิ่มขึ้นสูง และเพิ่มรายรับให้เพิ่มขึ้นเร็วกว่า คาดว่าในอีก 5 ปีน่าจะต้องเร่ง “สะสมส่วนต่างระหว่างรายรับกับร่ายจ่าย” ให้ได้อย่างน้อย 700-1,000 ล้านเหรียญ

เร่งเพิ่มรายรับ

สำหรับต้นปี 2565 ลาวสามารถจัดเก็บรายรับได้ 45-46% ของแผนการ เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านกีบ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องด้วยมีหลายมาตรการที่รัฐบาลได้ทำ โดยมาตรการด้านรายรับประกอบด้วย 1) โมเดิร์นไนซ์ การจัดเก็บรายรับ โดยการใช้ดิจิทัลเพิ่ม efficiency ในการจัดเก็บรายรับ การเพิ่มประสิทธิภาพ “บังคับใช้” กฎหมาย จะช่วยเพิ่มรายรับอีก 10% ของรายรับที่เราเก็บ ณ ปัจจุบัน

2) ขยายฐานการจัดเก็บรายได้ภาษี เช่น กฎหมาย VAT กำลังเร่งดึงรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เข้ามาในระบบมากขึ้น และการเพิ่มฐานการจัดเก็บรายรับใหม่จาก “แร่ธาตุ” ต่าง ๆ เพราะราคาโภคภัณฑ์สูงขึ้น อย่างแร่เหล็กในตลาดโลก และแร่แรร์เอิร์ธที่จีนก็ผลิตลาวก็มี

และยังมีหินมาร์เบิล ถือเป็นรายได้ที่น่าจะมีโพเทนเชียล ลาวจึงได้นำร่อง Pilot Project ผ่านสภา แล้วจะใช้ถึงสิ้นปีมีการมอบหลักทรัพย์ค้ำปะกันให้รัฐบาลล่วงหน้า เบื้องต้นจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่ม 30-40 ล้านเหรียญ

3) รายได้จากค่าธรรมเนียมรถไฟจีน-ลาว รัฐบาลจะได้ 100 เหรียญ/คอนเทนเนอร์ ไม่เพียงเท่านั้น รถไฟยังเป็นทิศทางบวกหลายด้าน เช่น ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งลง 30-40% การโปรโมตเทรดการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ไปจีน ในตรงนี้มีการเซ็นสัญญาระหว่างบริษัทลาวและทางจีนมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญที่จะส่งออกบรรดาสินค้าเกษตรไปให้จีน

และจีนก็เพิ่มโควตาให้ลาว เป็นช่วงเริ่มต้นในช่วงที่จีนยังไม่เปิดประเทศเต็มร้อย การลงทุนในดรายพอร์ตและโลจิสติกส์ต่าง ๆ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้า การขนส่ง และการส่งออกได้มากขึ้น ยังไม่รวมโพเทนเชียลจากการท่องเที่ยวที่เริ่มคึกคักขึ้นด้วย

4) นอกจากนี้ รัฐบาล สปป.ลาวยังอนุญาตให้ทำ Pirot Project บิตคอยน์ไมนนิ่งกับ 3-4 เจ้าที่มีการขุดที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า 30-40 เมกะวัตต์ (MW) ต่อ 1 แห่ง ทำให้มีรายได้จากการขายไฟและ VAT จากการขยายไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม สปป.ลาวยังไม่อนุญาตให้มีการ “เทรดบิตคอยน์” เพราะอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมาย

นอกจากนั้น รัฐบาลยังร่างและทบทวนกฎหมายใหม่หลายฉบับ เช่น กฎหมาย Tax Law Asset Law และปรับอัตราการเก็บ Excite Tax จากสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น แอลกอฮอล์ต่าง ๆ ทำให้ปีนี้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มสูงกว่าปีก่อน

ช่วยลดรายจ่าย

ส่วนด้านการ “ลดรายจ่าย” ประกอบด้วย 1) รัฐได้ประมูลซื้อรถไฟฟ้า (EV) สำหรับรถบริหารทั่วไป เพื่อลดต้นทุนพลังงาน 2) การปรับโครงสร้างของรัฐด้วยการ “ยุบเลิก” กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปรวมกับกระทรวงอื่น ยกเลิกกรมและแผนกงานที่ไม่จำเป็น เพื่อลดจำนวนข้าราชการ มีการรับข้าราชการใหม่ไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่รีไทร์ออกไป เป้าหมายเพื่อลดรายจ่าย และ 3)ลดการใช้อุปกรณ์สำนักงานสิ้นเปลืองลง

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อ เกิดจาก “ต้นทุน” ของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินกีบผันผวน มาตรการที่จะนำมาใช้ก็คือ คุมให้อยู่ระดับคงที่ก่อน และต้องมีแหล่งเงินตราต่างประเทศที่จะเข้ามา

ฉะนั้น เราคิดว่าการส่งออกสินค้าต่าง ๆ จะส่งออกมากช่วงปลายปี ก็จะมีการนำเข้าเงินสกุลที่เข้มแข็งมาเพิ่ม ก็จะช่วยปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ดีขึ้น

โดยได้ปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากเดิมไม่เกิน 5% หรือสูงเกินกว่า GDP แต่จากปัจจัยต่าง ๆ ที่มากระทบ ทำให้ต้องปรับเงินเฟ้อไม่ให้เกิน 2 หลัก และปีหน้าจะพยายามคุมให้ลดลงมาอีก