“บางจาก” ดึงโมเดลนอร์เวย์ CCS กักคาร์บอนลดโลกร้อนทำกำไร

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน (energy transition) กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานที่มีแหล่งกำเนิดจากฟอสซิลยังมีความจำเป็นและจะยังอยู่กับชีวิตผู้คนไปอีกหลายสิบปี

การดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสนใจศึกษาและพัฒนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ “นอร์เวย์” หนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่มีโครงการต้นแบบเรื่องนี้แล้ว

นางสาวนิโคล่า มาร์ช ผู้จัดการศูนย์ Norwegian CCS Research Centre NCCS-Gas Technology ประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด

ปัจจุบันนอร์เวย์ผลิตเชื้อเพลิงปิโตรเลียมส่งออกไปที่ยุโรป ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศทั้งหมดผลิตจากพลังงานสะอาด โดย 91.8% เป็นพลังงานน้ำ และถือว่ามีการวางระบบการจัดการด้านพลังงานสู่อนาคต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยี CCS หรือการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ด้วยการฝังตามแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุแล้ว ซึ่งปัจจุบันในนอร์เวย์มีพื้นที่พร้อมที่จะใช้เป็นโกดังกักเก็บคาร์บอน 70,000 ล้านตัน

และอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี สเต็ปต่อไป คือ CCUS หรือ Carbon Capture Utilization and Storage ซึ่งไม่ใช่เพียงการดักจับและกักเก็บ แต่ต้อง “นำไปใช้ประโยชน์” ด้วย ที่สำคัญต้องผสานเทคโนโลยี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม

CCS ต้นแบบของโลก

สำหรับโครงการ The Northern Lights Project เป็นการนำคาร์บอนไปกักเก็บในแหล่งในทะเล (CCS) เป็นที่แรกของโลก เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Equinor บริษัทน้ำมันใหญ่ที่สุดของนอร์เวย์ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐมูลค่ากว่า 2,700 ล้านยูโร หลังจากบริษัทปิโตรเลียมในนอร์เวย์ต่างเห็นชอบและตอบตกลงที่จะใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน

เพราะเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูงมากในเรื่องการดูแลคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา เริ่มมีการใช้ระบบ cap & trade ซึ่งจำกัดปริมาณสูงสุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากมีการปล่อยเกินกว่านั้น ก็จำเป็นต้องไปซื้อหรือจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน (carbon tax) ทดแทน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการกำหนดราคาการกักเก็บคาร์บอนต่อตันสำหรับเทคโนโลยี CCS นั้นยังทำได้ยาก โมเดลยังอยู่ระหว่างการศึกษาในหลาย ๆ มิติ

“โอกาสของธุรกิจนี้มีสูงมาก เพราะปัจจุบันทั่วโลกมีอุปสงค์ค่อนข้างมาก ไม่จำกัดแต่อุตสาหกรรมพลังงาน อย่างที่ทราบอียูมีการใช้มาตรการเช่น อียูกรีนดีล CBAM ทำให้หลาย ๆ อุตสาหกรรมตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ ที่อยากหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีหลายประเทศในยุโรปแสดงความสนใจมายังโครงการ โครงการนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพร้อมเริ่มกักเก็บคาร์บอนในแหล่งปิโตรเลียมที่ครบอายุ สำหรับคาร์บอนที่ส่งมาทางเรือในปี 2567”

“บางจาก” มองโอกาสลงทุน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า นอร์เวย์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก เป็นประเทศที่มียอดการใช้รถไฟฟ้าสูงสุดในโลก เทียบกับจำนวนประชากร พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในประเทศมาจากแหล่งพลังงานสะอาด

ขณะที่พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตเพื่อส่งออก และมีความพร้อมรองรับเป้าหมาย net zero เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยมีแผนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-55% ในปี 2030 (ปี 2573) และเป็นสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณต่ำภายในปี 2050 (2593)

ปัจจุบันมีภาษีคาร์บอนหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่กว่า 80 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 200 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030

แนวทางของนอร์เวย์สอดคล้องกับอุดมการณ์ของบางจากฯ ที่ได้เข้ามาลงทุนในบริษัท OKEA ASA เพื่อตอบโจทย์ระยะยาว ซึ่งไม่เพียงจะสร้างความมั่นคงทางพลังงาน แต่ยังใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนแหล่งปิโตรเลียม Draugen พยายามนำเอาเทคโนโลยีมายืดอายุแหล่งปิโตรเลียมให้นานที่สุด และวางแผนจัดหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน

“ขณะนี้โลกอยู่ในสภาวะที่ต้องรักษาสมดุล ระหว่างเรื่องความมั่นคงเรื่องพลังงานควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนในอนาคต เราไม่สามารถจะเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้ในชั่วข้ามคืน หากพิจารณาบนพื้นฐานความเป็นจริง พลังงานฟอสซิลจะยังคงเป็นพลังงานของโลกไปอีกระยะยาวพอสมควร เราจึงต้องหาวิธีจัดการกับคาร์บอนที่ปล่อยออกมา

นอร์เวย์เป็นประเทศที่เข้มงวดเรื่องนี้มาก บางจากฯ ได้รับความรู้และประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยี Carbon Capture & Storage ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อวางแนวทาง ขณะเดียวกัน ก็เร่งส่งเสริมและขยายการลงทุนในธุรกิจสีเขียวมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียวจากปัจจุบัน 30% เป็น 50% ภายในปี 2573”

“ฟอสซิลฟีลด์จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน วิธีเดียวที่มันจะอยู่กับเราอย่างยั่งยืน คือต้องมีคาร์บอนแคปเจอร์ ซึ่งตรงนี้ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ แนวทางหนึ่งที่น่าจะได้เลยคือ คาร์บอนแทกซ์ วันนี้คาร์บอนเครดิตบ้านเราซื้อขายกัน 1 เหรียญสหรัฐ ที่ยุโรปซื้อขาย 40-50 เหรียญสหรัฐ ที่นอร์เวย์ 80-100 เหรียญสหรัฐ”