“บางจาก” รุกแหล่งปิโตรเลียม OKEA ASA หัวหอกธุรกิจต้นน้ำ

เวลาได้ผ่านมา 4 ปี หลังจากที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ตัดสินใจเข้าซื้อ บริษัท OKEA ASA นอร์เวย์ เจ้าของแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ (World Class Asset) ที่ยังมีอายุการผลิตต่อเนื่องในระยะยาว

โดยดีลนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของบางจากที่จะเป็นเจ้าของแหล่งปิโตรเลียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้เป็นน้ำมันดิบเบา (light crude) ที่เหมาะสมกับการผลิตและการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันบางจาก จนเกิดการลงทุนร่วมกันในลักษณะของ joint partnership ในปี 2561

บางจากในนามของบริษัท BCPR เริ่มต้นจากการใช้เงินเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน OKEA ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 90 ของทุนจดทะเบียนส่วนที่เพิ่มขึ้นใน OKEA มูลค่ารวมไม่เกิน 939 ล้านโครนนอร์เวย์ (NOK) หรือประมาณ 3,760 ล้านบาท

OKEA

มาถึงวันนี้ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ผู้ประกอบธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสโล ได้แสดงความมั่นใจที่ว่า กำลังการผลิตของ OKEA จะขยับเพิ่มจาก 20,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน เป็น 25,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน

และมีโอกาสที่กำลังผลิตจะสามารถเติบโตได้ถึง 40,000-60,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

Advertisment
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

3 เงื่อนไข Take-M&A แหล่งปิโตรเลียม

ล่าสุดจากการประชุมบอร์ดของ OKEA ได้มีการประเมินสถานการณ์และแนวโน้มวิกฤตด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในยุโรป-เอเชีย จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีโอกาสที่จะลากยาวไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี ส่งผลให้บางจากมุ่งขยายการลงทุนในส่วนของธุรกิจต้นน้ำโดยผ่าน OKEA ซึ่งนับเป็นบริษัทสตาร์ตอัพ-แฟลกชิปในเครือบางจากให้มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับ “กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่” ของบริษัท

โดยช่วงต้นปีแรก OKEA สามารถบรรลุการเจรจาเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ไปแล้ว 2 ดีล จากทั้งหมดที่ได้มีเจรจาไป 6-7 ดีล และคาดว่าจากนี้ไปจนถึงปี 2566 จะสามารถปิดดีลได้อีก 2 ดีล ซึ่งเบื้องต้นจะอยู่ในพื้นที่แถบยุโรป ส่วนเม็ดเงินลงทุน M&A นั้นไม่ได้เป็นงบประมาณที่วางไว้ในกรอบ แต่จะขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแต่ละดีลเป็นหลัก

Advertisment
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

“ที่ผ่านมาการลงทุนใน OKEA นับจากปี 2018 ประสบความสำเร็จอย่างมาก เราสามารถผลิตปิโตรเลียมได้มากกว่าแผนที่วางไว้ จากเดิมคาดว่า แหล่งดราเก้น (Draugen) จะสามารถผลิตน้ำมันได้ถึงปี 2027 แต่ปัจจุบันสามารถยืดอายุการผลิตออกไปถึงปี 2035 อีกทั้งช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา OKEA ยังมี EBITDA สูงเป็นสัดส่วน 30% ของธุรกิจต้นน้ำในกลุ่มบางจาก

เราได้ปรับโครงสร้างหลายอย่าง ทำให้ต้นปีที่ผ่านมา OKEA มีหนี้สินติดลบ หมายถึงมีรายได้มากกว่าหนี้สิน ซึ่งทำให้มีกระแสเงินสดจำนวนมาก ประกอบกับทางรัฐบาลนอร์เวย์มีนโยบายส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนโดยจะลดภาษีให้กับธุรกิจที่นำรายได้ไปลงทุนขุดเจาะต่อ ไม่ว่าจะเจอหรือไม่เจอน้ำมันก็จะได้รับการลดหย่อนภาษี 78% แต่หากไม่มีการลงทุนต่ออาจจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีมากกว่า 80%” นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับการจะเข้าไปลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ “บางจาก” ให้ความสำคัญ โดยมีเงื่อนไขในการพิจารณา 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) OKEA จะเข้าไปลงทุนเซ้งต่อกิจการในแหล่งที่ปริมาณสำรองน้ำมันดิบเหลือตั้งแต่ 7-10 ปี 2) ต้องมีต้นทุนปากหลุมไม่เกิน 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ 3) จะต้องมีพันธมิตรเข้าไปร่วมลงทุนด้วย

บริษัท บางจากฯ ยังมองหาโอกาสลงทุนในประเทศอื่นที่มีศักยภาพอีก โดยหลักการสำคัญของการขยายลงทุนจะต้องมีวินัยอย่างมาก เพราะการเข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการนั้น “ไม่ใช่การช็อปปิ้ง” แต่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ซึ่งตอนนี้ OKEA มีกระแสเงินสดเหลือเป็นจำนวนมาก การเข้าไปลงทุน และการเข้าซื้อต่อแหล่งเดิม จะทำให้ลดระยะเวลาและสามารถทำรายได้กลับสู่บริษัทได้รวดเร็วมากกว่าการที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนสำรวจและขุดเจาะที่ใช้เวลานาน ซึ่งจะไม่ทันกับจังหวะที่ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในตอนนี้

ในช่วงที่ผ่านมาจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ระดับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น นั่นหมายถึง การส่งผลดีต่อธุรกิจของ OKEA อย่างมาก โดยเฉพาะหากเทียบราคาก๊าซธรรมชาติช่วงที่เพิ่งลงทุนปรับขึ้นจาก 40 เป็น 350 เหรียญสหรัฐ การส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังอังกฤษก็ต้องเร่งเปิดวาล์วเต็มที่ เพราะตอนนี้ตลาดมีความต้องการสำรองก๊าซเพื่อรองรับเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนราคาน้ำมันดิบก็มีขึ้นลงมาบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่มีกำไรเพราะต้นทุนราคาปากหลุมที่เป็นต้นทุนคงที่ต่ำมาก

เร่งเครื่องผลิต 25,000 บาร์เรล/วัน

สำหรับภาพรวมธุรกิจ OKEA ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ปรากฏมีรายได้จากการขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวม 10,239 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 148% จาก 4,133 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมี EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 7,833 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 288% จาก EBITDA ครึ่งแรกของปี 2564 ทั้งนี้ สัดส่วน EBITDA ของกลุ่มบางจาก เป็น EBITDA ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านบริษัท OKEA ASA คิดเป็น 30%

ส่วนปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อครึ่งปีแรก มาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทานที่ตึงตัวจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกสูงขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของโควิด-19

ปัจจุบัน OKEA มีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์ รวมทั้งสิ้น 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่ง Draugen ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 44.56%, แหล่ง Gjoa (12%), แหล่ง Yme (15%) และแหล่ง Ivar Aasen (2.77%) โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดในส่วนของ OKEA รวม 20,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน ซึ่งสูงกว่าการผลิตจากอ่าวไทยที่มีหลักแค่ 1,000 ตัน โดยจำนวนนี้แบ่งเป็น การผลิตน้ำมันดิบ คิดเป็นสัดส่วน 61% ก๊าซธรรมชาติ 39% และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 25,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วันในปลายปี 2565

“ต้นน้ำ” ขึ้นนำธุรกิจหลัก

ภาพรวมธุรกิจบางจากในช่วง 5 ปีนั้น บริษัทยังคงสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจต้นน้ำด้านทรัพยากรธรรมชาติ 30-40%, ธุรกิจโรงกลั่น 20-30%, ธุรกิจไฟฟ้า 20-30% และธุรกิจใหม่ด้านชีวภาพอีก 10%

“ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจะเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกไปอีกหลายทศวรรษ แต่เราจะอยู่กับพลังงานฟอสซิลอย่างไรเพื่อโลกยั่งยืน ดังนั้น บางจากจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ด้าน คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน (energy security) การเข้าถึงพลังงาน (energy affordability) และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (environmental sustainability) โดยส่วนหนึ่งจะยึดโมเดลธุรกิจและประสบการณ์ของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มีมาตรฐานที่ดีที่สุดในโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต” นายชัยวัฒน์กล่าว