เกษตรกรยกขบวน ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ปล่อยหมูเถื่อนเกลื่อนเมือง

ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ หมูเถื่อน

เลขาธิการ ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกขบวนกลุ่มตัวแทนเกษตรกรรายย่อย เข้ายื่นหนังสือ ป.ป.ช.-ป.ป.ท. ขอช่วยตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ “กรมศุลกากร-ปศุสัตว์” หลังปล่อยหมูเถื่อนนำเข้าเกลื่อนเมือง เสี่ยงนำโรคระบาดหมูซ้ำในไทย แต่รัฐไม่เคยเปิดเผยชื่อผู้กระทำผิดแม้แต่คดีเดียว หวัง ป.ป.ช.คลี่คลายการทำงานรัฐ เพื่อโอกาสกลับมาฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงหมูของเกษตรกรรายย่อยอีกครั้ง ป.ป.ช. คาดใช้เวลาตรวจสอบ 180 วัน

วันที่ 29 กันยายน 2565 เมื่อเวลา 10.00 น. นายอุดมศักดิ์ แก้วจันทร์วงษ์ เลขาธิการ ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะเข้ายื่นหนังสือ เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐทางกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์กรณีการนำเข้าหมูเถื่อน ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยมีนายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. จากนั้นได้นำคณะเกษตรกรได้ไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในเวลา 11.30 น.

นายอุดมศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาการนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน โดยการสำแดงเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ มาจำหน่ายในร้าน เขียงหมู และร้านหมูกระทะ ได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างฟื้นฟูการเลี้ยงหลังจากเกิดโรคระบาด ASF โดยราคาหมูนำเข้าต่ำกว่าปกติ เพียง กก.ละ 120-130 บาท ต่ำกว่าหมูที่ผลิตในประเทศซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงจากราคาอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น กก.ละ 90 บาท ทำให้ต้องขายหน้าเขียง กก.ละ 180 บาท

อีกทั้งหมูนำเข้าที่คาดว่าจะมาจากบราซิล สหภาพยุโรป หรืออเมริกา มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย เพราะทางนั้นมีการอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงถูกกฎหมาย และบางประเทศก็มีการระบาดของ ASF เหมือนกับไทย ก็อาจจะทำให้ไทยรับเชื้อกลับมาอีก หากปล่อยเป็นอย่างนี้ จะกระทบต่อราคาหมูในประเทศและภาพรวมเศรษฐกิจ เกษตรกรจะไม่สามารถฟื้นกลับมาประกอบอาชีพได้ จากปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบจาก ASF เสียหายไปแล้ว 1 แสนรายจากที่เคยมี 2 แสนราย

“เป็นที่น่าสังเกตว่า การตรวจสอบกลับไม่เคยมีการเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดทั้งที่สามารถเชื่อมโยงไปถึง บริษัทผู้นำเข้าได้ไม่ยาก และการตรวจจับหมูเถื่อนขณะนี้มีจำนวนน้อยมาก มีการทำลายไปเมื่อวาน 34 ตัน เทียบกับปริมาณที่ลักลอบนำเข้ามหาศาล และผ่านด่านสำคัญอย่างท่าเรือแหลมฉบัง เป็น 1,000 ตู้/เดือน และยังพบว่ามีการจำหน่าย 50% ในท้องตลาด และ 80-90% ในร้านหมูกระทะ”

“แต่กลับไม่พบการตรวจจับที่ท่าเรือเลย จึงน่าสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับการตรวจสอบ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือหละหลวม หรือทุจริต ทางเกษตรกรจึงต้องการขอให้ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และนำไปสู่การดำเนินคดีทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิด”

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จะมีการตรวจสอบก่อนว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ จากนั้นจะส่งให้สำนักการไต่สวนการทุจริต (ภาครัฐ 2) ซึ่งดูแลเรื่องเกษตร คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบในการตรวจสอบ 180 วัน หรืออาจจะขยายระยะเวลาได้ ถ้ามีหลักฐานเพียงพอก็จะสามารถยกระดับไปสู่การไต่สวนและดำเนินคดีในลำดับต่อไป