หมูเถื่อน เสี่ยงสารก่อมะเร็ง ทำลายห่วงโซ่การผลิต

หมู

สัตวแพทย์เตือน “หมูเถื่อน” เสี่ยงของแถมสารเร่งเนื้อแดงก่อมะเร็ง ผู้บริโภคต้องระวังอย่าเห็นแก่ของถูก เร่งภาครัฐปราบปรามเคร่งครัดจริงจัง หวังหยุดผลกระทบระยะยาว ทั้งสุขภาพประชาชนและบิดเบือนกลไกราคาก่อนอุตสาหกรรมสุกรไทยล่มสลาย

วันที่ 8 กันยายน 2565 นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า หมูเถื่อนที่มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีการจับกุมต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีโอกาสปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง

เนื่องจากหมูลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายเป็นเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่คนอเมริกันและยุโรปไม่บริโภค ไม่ว่าจะขา หัว และเครื่องในหมู เป็นชิ้นส่วนที่คนในประเทศทางตะวันตกไม่บริโภค การลักลอบนำเข้าจึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง แทนที่จะต้องทำลาย ซึ่งชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีการนำเข้ามานี้ เต็มไปด้วยสารแรกโตพามีน ที่ผู้เลี้ยงหมูสหรัฐ และบางประเทศของยุโรปสามารถใช้ในการเลี้ยงได้อย่างเสรี

สำหรับประเทศไทยมีประกาศในกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545 จนกระทั่งมีการปรับปรุงประกาศเมื่อ พ.ศ. 2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546

“หมูเถื่อน เป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวพวกเรามาก เนื่องจากเป็นอันตรายทั้งต่อผู้บริโภค ผู้เลี้ยง และอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งผู้บริโภคซื้อเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างไปรับประทาน อาจก่อให้เกิดอันตราย อาทิ อาการหัวใจเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และจะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับกลุ่มสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ซึ่งในสถานการณ์เงินเฟ้อสูง ผู้บริโภคจะเลือกของถูก แต่อาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะได้รับสารสะสมในอนาคต” นายสัตวแพทย์วรวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ หมูเถื่อนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่บิดเบือนกลไกราคา เพราะเป็นชิ้นส่วนที่ตลาดต่างประเทศไม่ต้องการ ทำให้สามารถขายในราคา 135-145 บาทต่อกิโลกรัมได้ เทียบกับหมูเนื้อแดงไทยขณะนี้ที่ราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม ราคาหมูผิดกฎหมายล่อใจผู้บริโภคมาก ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนแท้จริงของเกษตรกรไทยที่มีต้นทุนสูงมาก จากการทำระบบไบโอซีเคียวริตี้เพื่อป้องกัน ASF และยังต้องแบกรับภาระวัตถุดิบอาหารที่ปรับสูงขึ้น 30% ราคาน้ำมัน จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือแม้แต่ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงในอาชีพของผู้เลี้ยงหมู

“ต้นทุนการเลี้ยงหมูในต่างประเทศต่ำกว่าของไทยมาก ภาครัฐจึงควรปกป้องและดำเนินการกับหมูเถื่อนอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ผู้เลี้ยงหมูไทยกว่า 2 แสนคน ที่เลี้ยงหมูได้ 22 ล้านตัวต่อปี ต้องล้มหายตายจากไปกันหมด และไม่ให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ รวมถึงภาคอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์สัตว์ไทย ที่ทั้งหมดในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ต่างเชื่อมโยงกัน” นายสัตวแพทย์วรวุฒิย้ำ

นายสัตวแพทย์วรวุฒิกล่าวด้วยว่า ปกติคนเอเชียกินหมูทุกส่วน ทั้งเนื้อหมู หัว เครื่องใน หนัง มัน ฯลฯ โดยเฉพาะคนไทยที่มีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างออกไป ทั้งการกินหมูแบบสุก แบบดิบ กึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ลาบ หลู้ และเนื้อแดง ๆ ผิดกับชาวยุโรปและอเมริกันที่รับประทานเฉพาะเนื้อหมู ความพยายามส่งผลิตภัณฑ์หมูที่เคลือบสารเร่งเนื้อแดงเป็นของแถมมาให้คนไทยกินนี้ ยังโชคดีที่รัฐบาลไทยยังคงยืนหยัดปกป้องคนไทย ด้วยใช้เหตุผลด้านผลกระทบต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน ในการคัดค้านการนำเข้าชิ้นส่วนหมูมาตลอดจนถึงปัจจุบัน