“หมูเถื่อน” ทำผู้เลี้ยงกระอัก วัดใจ! รัฐแก้ปัญหา

ภาพจาก มติชนออนไลน์
คอลัมน์ :ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

ดูจะเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของคนในแวดวงการอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู เพราะตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever) หรือ ASF ถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 3 ปี ประเมินกันว่าเกิดความเสียหายไปไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท เพราะเดือดร้อนกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่คนเลี้ยงหมู คนขายพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ คนขายเวชภัณฑ์ ขายอุปกรณ์ โรงเชือด ฯลฯ

เนื่องจาก “แม่พันธุ์หมู” จากทั่วประเทศ 1.1 ล้านตัว จากที่ผลิตลูกหมูหรือหมูขุนได้ 21-22 ล้านตัว/ปี เสียหายไปกว่า 50% ทำให้เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว และผลิตเป็นหมูขุนได้เพียง 12-13 ล้านตัว/ปี หรือเท่ากับ “ซัพพลาย” หมูหายไปกว่า 10 ล้านตัว

หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย และรายกลางบางส่วนไม่มีความสามารถกลับมาเลี้ยงใหม่ ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่หลายรายยังกระอักเลือด และมีหนี้สินกับสถาบันการเงิน

แต่เมื่อสถานการณ์ของโรค ASF เริ่มเบาบางลง เนื่องจากตัวหมูที่ก่อโรคถูกกลบฝังไปแล้ว ที่ยังมีตายให้เห็นบ้างก็ประปราย หลายคนจึงคิดจะกลับมาลงทุนเลี้ยงใหม่ เพราะเริ่มค้นพบวิธีการในการป้องกันโรคได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันเริ่มมีการคิดค้นวัคซีนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย และในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาได้คิดค้นวัคซีนได้สำเร็จในระดับหนึ่ง และที่ผ่านมาประเทศเวียดนามได้ซื้อลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกามาทำการวิจัยและพัฒนาต่อ และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเวียดนามได้ประกาศว่า ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนป้องกันโรค ASF เป็นครั้งแรกของโลก… แต่ในทางปฏิบัติหมูจะรอดตาย 100% หรือไม่ คงต้องซื้อมาทดลองใช้

แต่ในที่สุดผู้เลี้ยงรายกลาง รายใหญ่ที่จะกลับมาเลี้ยงใหม่ต้องเบรกแผนกันหัวทิ่ม ! เมื่อมีขบวนการใหญ่ในการนำเข้าหมูเถื่อน ทั้งเนื้อแดง และชิ้นส่วนเครื่องใน เข้ามาขายในตลาดทั่วประเทศไทยกันอย่างเอิกเกริกในราคาถูก

โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคมนี้ ราคาหมูเถื่อนเนื้อแดง สันนอกจากต่างประเทศนำเข้ามาขายกันในราคา 135-145 บาทต่อ กก. ขณะที่เขียงหมูในประเทศขายสันนอกกันที่ราคา 200 บาทเศษ เนื่องจากต้นทุนคนเลี้ยงหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มพุ่งขึ้นมหาศาล จากต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทุกอย่าง ทั้งอาหารสัตว์ ต้นทุนพลังงาน ค่ายาและอุปกรณ์ในการป้องกันโรค ค่าแรงงาน

ล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ต้องการให้รัฐบาล โดยกรมปศุสัตว์จัดการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอย่างจริงจัง เพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่กำลังเริ่มกลับมาเลี้ยงหมูขุนแล้วประมาณ 1 ล้านตัว ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

หากปล่อยให้มีการนำเข้าหมูเถื่อนอย่างนี้ เกษตรกรไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาได้ และถือเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยทั้งระบบให้ตายอีกรอบ อย่างไม่มีทางได้ผุดได้เกิด

จากนี้ไปคงต้องจับตาการทำงานของกรมปศุสัตว์ ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะโชว์ฝีมือในการตรวจจับ และแก้ไขปัญหาอย่างไร คงต้องติดตามดูฝีมือและความจริงใจกันต่อไป