ส.อ.ท.หวั่นต้นทุนพุ่งข้ามปี เปิด 7 ข้อเสนอแก้พลังงานแพง

พลังงาน

ล่าสุดกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและสมาชิก หรือโอเปกพลัส ได้มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นการปรับลด “ครั้งใหญ่” เพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งได้ชะลอตัวลงก่อนหน้านี้ไปอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ผลจากมติดังกล่าว ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นทันที ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงกับราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกให้ปรับสูงขึ้นด้วย

ประเด็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตพลังงาน เป็นหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นไปหารือในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยโจทย์หลักที่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะช่วยเหลือภาคเอกชนให้ฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปได้ ตราบใดที่ไทยยังต้องนำเข้าพลังงาน

เพราะการผลิตภายในประเทศจากแหล่งผลิตสำคัญ “เอราวัณ” ลดลง (ตามกราฟิก) ทั้งยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 37-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐมาเสริม ทำให้ต้นทุนเอกชนเพิ่ม ประเทศไทยจะขาดดุลการค้าและกระทบเชื่อมโยงไปสู่ดุลบัญชีเดินสะพัดอีก

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กกร.เห็นว่า ภาคเอกชนมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากเรื่องวิกฤตพลังงาน ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา และการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ล้วนแต่เป็นปัจจัยกดดันต้นทุนผู้ประกอบการ และอาจจะส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการ และที่สำคัญประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะปัจจุบันค่าไฟไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.ถือเป็นหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนข้อเสนอการแก้ไขต้นทุนพลังงานต่อภาครัฐ โดยได้มีการตั้งคณะทำงานพลังงาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กันยายน “อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธาน ส.อ.ท.พร้อมคณะ ได้มีการประชุมนำเสนอ “ข้อเสนอ ส.อ.ท.ต่อปัญหาต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้าสูง” ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมี เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการ กกพ.และคณะ และมีมติจะเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรองนายกรัฐมนตรี (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ส่วนข้อเสนอที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ. จะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่าง ส.อ.ท.และ กกพ. เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงานสูง แบ่งเป็นข้อเสนอระยะสั้นและระยะยาว โดยแบ่งเป็น 7 ด้าน 1) ในระยะสั้น เสนอ 3 เรื่อง คือ การนำเข้าพลังงาน เช่น น้ำมันสำเร็จรูปจากแหล่งที่ถูกกว่าปัจจุบัน เพื่อนำเข้ามาใช้ทดแทนการใช้ดีเซลจากแหล่งเดิม ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูป จากแหล่งเดิม ๆ ที่นำเข้าจากแหล่งที่มีราคาสูง

ขอให้สำนักงาน กกพ. ควรเปิดให้มีระบบ bidding ที่รัดกุม เพื่อซื้อไฟฟ้าในรอบ 4 เดือน ตามรอบการคำนวณ Ft ที่เป็น idle capacity จากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และขนาดเล็กมาก ๆ (VSPP) ในราคาที่ต่ำกว่าดีเซล แทนการนำเข้าแอลเอ็นจี (สัญญาลองเทอม-สปอต) มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า และทบทวนนำมาตรการทำ demand response และ energy efficiency ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งการใช้ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า รวมทั้งการลด/ยกเว้นภาษี VAT และอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุนพลังงาน

2) การปรับนโยบายการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนพลังงานของประเทศ โดยลดการพึ่งพาแอลเอ็นจี เปลี่ยนมาใช้พลังงานอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่า โดยส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ภาคประชาชน เพื่อลดพลังงานฟอสซิล นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้แทน กำหนดเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) อย่างเป็นรูปธรรม

ควรเร่งให้เกิดโรงไฟฟ้าต้นแบบ distributed generation เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าให้อยู่ระดับต่ำ ขณะที่การประมูลโรงไฟฟ้าในอนาคต ทั้งหมดต้องพิจารณาโครงสร้างราคา และความเสี่ยงของผู้ผลิต เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระ จากที่ผ่านมาซัพพลายไฟฟ้ามากกว่าดีมานด์ 52% จากระดับปกติที่ควรห่างกันไม่เกิน 15% และสุดท้ายให้ชะลอการ COD โรงไฟฟ้าของประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าความพร้อมจ่าย (AP)

3) ปลดล็อกระเบียบและอุปสรรค ในการเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตไฟใช้เอง (IPS/IPU) รัฐควรปลดล็อกระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมถึงเร่งอนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุน BOI และใบอนุญาตต่าง ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมโรงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้เอง โดยใช้ระบบ net metering มาใช้กับโซลาร์บ้านที่ใช้เองของภาคอุตสาหกรรม

4) เร่งให้เกิด third party access (TPA) ของสายส่งไฟฟ้า และท่อย่อยก๊าซธรรมชาติโดยด่วน เพื่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำ ใกล้โหลดใช้งาน และมีการใช้สายส่งไฟฟ้าและท่อย่อย ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ได้ลงทุนไปแล้วอย่างคุ้มค่า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีด้านพลังงาน

5) ควรมีหน่วยงานกำกับกิจการพลังงาน (regulator) และส่งเสริมตลาดแข่งขันอย่างแท้จริงและเป็นธรรม

6) กำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดการพึ่งพาแอลเอ็นจี อย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้โรงงานได้มีเวลาปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือก

7) ส่งเสริมให้มีพลังงานทางเลือกมากกว่า 1 ชนิด เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านพลังงาน โดยจะต้องมีการปรับกฎระเบียบลดอุปสรรค ส่งเสริมเงินทุน และมีคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน

ทั้งหมดนี้เอกชนมุ่งหวังว่าการวางมาตรการทั้งหมดจะช่วยลดต้นทุนพลังงานของประเทศ ช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันในอนาคต