ดีมานด์ “น้ำมัน” ฟื้นแกร่ง หลายชาติหันซบ “พลังงานนิวเคลียร์”

น้ำมัน

ความต้องการ “น้ำมัน” ทั่วโลกคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2023 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา แต่ความไม่แน่นอนจากมาตรการแซงก์ชั่นของโลกตะวันตกต่อรัสเซียที่อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลงจนกลายเป็นวิกฤตพลังงาน ทำให้หลายชาติเริ่มหันมาสนใจพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เปิดเผยรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2023 โดยมีปัจจัยหลักจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มศักยภาพของ “จีน” และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินอย่างเต็มที่ทั่วโลก

โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2023 เป็น 101.8 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งกลับมาสูงกว่าระดับความต้องการน้ำมันก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ไออีเอยังชี้ด้วยว่าความต้องการน้ำมันปีนี้ชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวหลังเกิดสงครามยูเครน รวมถึงการหยุดชะงักของภาคการผลิตในจีน แต่ภาวะขาดแคลนพลังงานทำให้ก๊าซธรรมชาติมีราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้น้ำมันที่มีราคาต่ำกว่าจึงเป็นที่ต้องการสำหรับการผลิตไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมากถึง 700,000 บาร์เรล/วัน ในไตรมาส 4/2022

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขณะที่มาตรการแซงก์ชั่นการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของรัสเซียโดยสหภาพยุโรป (อียู) ก็จะมีผลบังคับใช้ 100% ในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบ
ต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลกเช่นกัน

ไออีเอคาดว่า มาตรการแซงก์ชั่นดังกล่าวจะกดดันให้รัสเซียต้องแสวงหาตลาดใหม่มาแทนที่ยุโรป ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของรัสเซียในเดือน ก.พ. 2023 อยู่ที่ราว 9.5 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 17% จากเดือน ก.พ. 2022 ก่อนเกิดสงครามยูเครน

แม้ว่าที่ผ่านมาปริมาณการผลิตน้ำมันของรัสเซียจะลดลงเพียงเล็กน้อยนับตั้งแต่การรุกรานยูเครน แต่ไออีเอระบุว่ารายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาลดลงถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ราว 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก รวมถึงการขายน้ำมันราคาถูกให้กับตลาดใหม่อย่างอินเดีย จีน และตุรกี

ขณะที่วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา “ญี่ปุ่น” ได้ประกาศแผนรีสตาร์ตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้ง พร้อมทั้งการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ นับเป็นการปัดฝุ่นโครงการพลังงานนิวเคลียร์ครั้งแรก หลังจากเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในปี 2011

ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียของ “สหรัฐอเมริกา” ก็อนุมัติต่ออายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 5 ปี จากเดิมที่มีกำหนดจะปิดตัวในปี 2025 เช่นเดียวกับ “เยอรมนี” ที่ขยายอายุดำเนินงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปจากเดิมที่จะหยุดดำเนินการในสิ้นปีนี้ เพื่อรับมือกับวิกฤตด้านพลังงานในยุโรป

การหันมาสนใจพลังงานนิวเคลียร์ของนานาชาติยังส่งผลให้ราคา “ยูเรเนียม” ซึ่งเป็นธาตุสำคัญในการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ พุ่งสูงขึ้นทะลุ 50 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ ซึ่ง “แบงก์ออฟอเมริกา” คาดว่า ราคายูเรเนียมจะมีโอกาสพุ่งสูงถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ ในปี 2023 จากการกลับมาเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ทั่วโลก