ตั้งรับ Perfect Storm กวาด “น้ำมัน-ก๊าซ-ค่าไฟ” พุ่ง

Perfect Storm

“วิกฤตพลังงาน” ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันได้สร้างความบอบช้ำให้กับทุกประเทศทั่วโลกที่กำลังผชิญกับปัญหาราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุโรป มีแนวโน้มว่าในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ราคาพลังงานจะปรับพุ่งขึ้นอีกเป็น 2 เท่าของราคาปัจจุบันอย่างแน่นอน

ในขณะที่ประเทศไทยเอง รัฐบาลได้เข้ามาบริหารจัดการด้านพลังงานด้วยการพยุงและแบกรับภาระบางส่วนเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาท ด้วยการใช้เงินจาก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาอุดหนุน และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน เมื่อ กฟผ.ไม่สามารถแบกรับภาระที่เกิดจากต้นทุนเชื้อเพลิงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินสูงถึง 200,000 ล้านบาท แต่มรสุมลูกนี้ไม่ได้จบเร็วอย่างที่คิด เพราะปี 2566 เชื่อว่ายังมีอีก 7 เหตุการณ์เกิดขึ้น

รวมถึงค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ที่ประชาชนต้องจ่ายจะไม่ได้เห็นในระดับราคาที่ต่ำกว่า 4 บาท/หน่วยลงมา ดังนั้นทางเดียวที่เอกชนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานสูง 20% จะอยู่รอดให้นานที่สุด เพื่อนำพากิจการของตนให้พ้นจาก perfect storm ก็คือ การ lean ประหยัดพลังงานทุกรูปแบบให้ได้

BCG ทางรอดภาคอุตสาหกรรม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2022 เรื่อง “การปรับตัว และความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อวิกฤตพลังงานโลก” ว่า เอกชนต้องต่อสู้กับต้นทุนพลังงานอย่างมาก ทางรอดเดียวก็คือ การเร่งปรับตัว สร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรม

เพื่อความไม่ประมาทในภาวะที่มีแต่ความไม่แน่นอน การมุ่งไปสู่ BCG economy model เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง ไม่ให้เกิดของเสีย หรือลดขยะให้เป็นศูนย์ (zero-waste) และการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาด พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) รวมถึงส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

รัฐแบกภาระ 2 แสนล้าน

ขณะที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการดูแลทั้งราคาดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ผ่านกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) บางส่วนไว้ด้วย โดยการดูแลของรัฐบาลข้างต้นจะต้องใช้ วงเงินรวมกว่า 200,000 ล้านบาท

แต่ก็ยอมรับว่าแม้รัฐบาลจะไม่สามารถดูแลหรือแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่ได้พยายามออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าแล้ว อย่างงวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่จะปรับขึ้นให้กับกลุ่มผู้ใช้ไฟบ้านไม่เกิน 500 หน่วย รวม 4 เดือน และมาตรการขยายระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ปัจจุบันปรับลด 5 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุด 20 ก.ย.นี้ให้ ครม.พิจารณา

สำหรับคำแนะนำในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องดำเนินการในตอนนี้ก็คือ การปรับตัวเพื่อลดต้นทุน ด้วยการ lean นำนวัตกรรมมาลดการใช้พลังงาน ลดขั้นตอน เพื่อช่วยกันประหยัดพลังงาน ในขณะที่รัฐบาลเองก็ได้เร่งส่งเสริมการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (แผงโซลาร์)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับที่อยู่อาศัย โดย 3 การไฟฟ้า และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องเร่งออกประกาศและออกมาตรการทางการเงินและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

ส่วนแนวทางการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้พยายามบริหารจัดหา “เชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า” เราพยายามประคองทุกอย่างเอาไว้ให้ช้าที่สุด สำหรับการปรับตัวและความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อวิกฤตพลังงานโลกนั้น “จำเป็น” ต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรม ต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการค้า

การส่งออก การลงทุนแบบ offline เพียงอย่างเดียว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานรูปแบบ online เพิ่มมากขึ้น เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตตอบสนองต่อความต้องการของตลาด

7 เหตุการณ์ในปี 2566

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า perfect storm ลูกนี้ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานโลก วิกฤตอาหารโลก และวิกฤตการทหารโลก ซึ่งมันจะใช้อีกเวลา 2-3 ปี และในปี 2566 ความน่ากลัวที่รอเราอยู่ข้างหน้าจะมี 7 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ

1) ความขัดแย้งระหว่างประเทศยังเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐ-รัสเซีย-จีน 2) การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และธนาคารกลางต่าง ๆ 3) การลดลงของเงินเฟ้อโลก 4) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ 5) การเริ่มของ global recessions 6) การอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะชัดเจนขึ้น และ 7) การก่อตัวของ emerging market crisis

ส่วนข่าวร้ายที่จะกระทบกับผู้ประกอบการในช่วงต่อไปก็คือ “โอกาสของการส่งออกที่จะน้อยลง” ต้นทุนสินค้าที่จะยังผันผวนไปอีกระยะ ค่าเงินโลกจะยังคงผันผวน จะมีเพียง “ภาคการท่องเที่ยว” ที่ยังคงพยุงทุกอย่างไว้ได้ ประเทศไทยยังมีเวลา 2 ปีในการปรับตัว แม้จะได้อานิสงส์จากการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ทางกลับกันมันทำให้เกิดคู่แข่งมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ส่วนพลังงานของประเทศจะมีเพียงพอหรือมั่นคงเพียงใดนั้น ใน “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP” คือ ตัวบ่งชี้แนวทางการใช้พลังงานของประเทศว่าเป็นไปในทิศทางใด อาจมีทั้งการเปิดเสรีก๊าซ เสรีสายส่ง

โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เองได้เตรียมแผนพลังงานแห่งชาติเอาไว้แล้ว ไทยยังโชคดีกว่าหลาย ๆ ประเทศที่ยังไม่ขาดแคลนพลังงาน เจอเพียงวิกฤตด้านราคาเท่านั้น แต่ถึงอย่างไร รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาช่วย ส่วนประชาชนและภาคเอกชนเองก็ต้องเข้าใจ และยอมรับถึงราคาพลังงานที่ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงด้วยเช่นกัน

ตั้งรับค่าไฟพุ่ง

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มองว่า ก๊าซยังเป็นพลังงานที่ยังสามารถใช้ไปได้ระยะหนึ่ง แต่คู่ขนานคือ การหนุนให้เกิดพลังงานหมุนเวียน แม้ต้องประกอบด้วยเชื้อเพลิงหลัก ส่วนสำคัญคือ ประเทศไทยเองจะต้องมีพลังงานสำรองเอาไว้สัก 10% เช่น การคงอยู่ของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ

ขณะที่แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายในระดับต่ำกว่า 4 บาท/หน่วยในอนาคต กกพ.ยอมรับว่า “จะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” เนื่องจากเชื้อเพลิงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่ประเทศไทยเคยพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

ตอนนี้กลับต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งขณะนี้ราคา LNG คิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟราว 10 บาท/หน่วย ขณะที่ก๊าซอ่าวไทยอยู่ที่เพียง 2-3 บาท/หน่วย และน้ำมัน 6 บาท/หน่วย

ด้านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรที่ต้องบริหารจัดการพลังงานให้เพียงพอกับคนในประเทศ มองว่า ในระยะยาวจำเป็นต้องเพิ่มทางเลือกด้านพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ ปตท.เองก็ตั้งวิชั่นใหม่ ด้วยการมุ่งไปสู่ EV แบตเตอรี่ รวมถึงการมีแผนพลังงานฉุกเฉินเพื่อให้องค์กรจะยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้